Politics

เปิด 5 สุดยอดข่าวปลอมช่วงโควิด แจงความจริงแล้วก็ยังแชร์!!

เปิด 5 สุดยอดข่าวปลอมช่วง “โควิด” งงใจ!! แจงข้อเท็จจริงแล้วก็ยังแชร์วนซ้ำไป ซ้ำมา ชี้ไวรัสนี้ป้องกันได้ด้วยสวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือบ่อย ๆ

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย (COFACT Thailand) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึง 5 ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่วนซ้ำกลับมาอีกรอบในสังคมไทย เพื่อการรู้เท่าทันของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้

1. “คลิปเสียงปลอม” ความยาว 1.20 นาที อ้างว่าเป็นเสียงของ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช โดยมีเนื้อหา ขอความร่วมมือให้ประชาชนคนไทยทุกท่าน ล็อคดาวน์ ที่มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายข้ามปี จนทำให้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องออกแถลงการชี้แจงว่า คลิปเสียงดังกล่าว ไม่ใช่เสียงของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอความร่วมมือทุกท่านอย่าแชร์ อย่าโพสต์คลิปเสียงกันอีก เพราะไม่ใช่เสียงจริง

2. การดื่มน้ำมะนาวฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ : หลายคนอาจเคยได้ยินวลี “มะนาวโซดาฆ่ามะเร็ง” ที่หมายถึงยุคหนึ่งเคยมีการส่งต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำโซดาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งต่อมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 มะนาวถูกยกมาเป็นยาวิเศษอีกครั้งหนึ่ง โดยช่วงเดือน มีนาคม 2563 มีการแชร์ข้อมูลว่าน้ำมะนาวสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้

ทั้งนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายผ่านสื่อมวลชน เมื่อ 28 มีนาคม 2563 ว่า มะนาวมีวิตามินซีสูง ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน เชื้อโรคไม่สามารถฝังเข้าไปในเซลล์ของทางเดินหายใจและปอดได้ง่ายเท่านั้น แต่ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้ ในช่วงไล่เลี่ยกันยังมีการแชร์ข้อมูลน้ำมะนาวผสมโซดา (อีกแล้ว) แต่คราวนี้ผสมน้ำส้มสายชูไปด้วย

โดยอ้างว่าสูตรนี้ฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้แน่นอน เพราะจะไปทำลายไวรัสที่พบในลำคอ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ออกมาเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อ เพราะข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มารับรอง

โควิด101645

3. เลือดเป็นด่างมีโอกาสติดไวรัสโควิด-19 ได้น้อยลง : เป็นอีกเรื่องที่แชร์กันมากตั้งแต่ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ และมักถูกนำไปโยงกับความเชื่อทางศาสนา ที่อ้างว่าบุคคลใดกินเจไม่แตะต้องเนื้อสัตว์ ไวรัสโควิด-19 จะไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ได้ หรือถึงได้ก็มีอาการไม่รุนแรง เพราะอาหารเจทำให้เลือดเป็นด่าง (วัดจากค่า pH ซึ่งมีระดับตั้งแต่ 1-14 โดย 1 หมายถึงเป็นกรดรุนแรงที่สุด และ 14 หมายถึงเป็นด่างรุนแรงที่สุด) โดยอ้างชื่อแพทย์บางท่านที่หันไปทำงานด้านส่งเสริมการกินเจ

เรื่องนี้ถูกตรวจสอบและถูกนำกลับมาแชร์ต่อวนไป-มาครั้งเล่าครั้งเล่า ไล่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มีนาคม – กลางเดือน เมษายน 2563 มีทั้งผู้เชียวชาญที่ชี้แจงว่า ค่า pH ของเลือดมนุษย์โดยทั่วไปไม่ว่าจะกินเจ กินมังสวิรัติ หรือกินเนื้อสัตว์ จะอยู่ที่ 7.35 – 7.45 และเป็นค่าที่ค่อนข้างคงที่ด้วยเพราะร่างกายมีกลไกปรับสมดุลอยู่

เช่นเดียวกับ พ.ต.ต.นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช อายุรแพทย์ และโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ที่อธิบายผ่านสื่อมวลชน ยืนยันอีกเสียงเรื่องค่า pH ของเลือดมนุษย์ที่จะอยู่ที่ 7.35 – 7.45 และการบริโภคผักและผลไม้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนค่านี้ได้ ส่วนที่บอกว่าด่างฆ่าเชื้อไวรัสได้นั้นเป็นปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์เป็นด่างรุนแรงเช็ดถูสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น

กรณีชวนเชื่อเรื่องสุขภาพที่ระบุถึงวิธีฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ด้วยการกินผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ทางกรมควบคุมโรค ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลเกินจริงและไม่ถูกต้อง ถูกนำมาส่งต่อซ้ำ ๆ โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่ยืนยันว่าการรับประทานผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง มีผลในการช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

4. พัสดุไปรษณีย์เป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 : เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของบริษัท กรณีมีการส่งข้อความผ่านสื่อออนไลน์ ระบุว่า สำนักงานไปรษณีย์แจ้งเตือนเมื่อได้รับจดหมายหรือพัสดุให้แยกไว้ก่อน 24 ชั่วโมง หรือฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำเข้าบ้าน เพราะมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากพัสดุไปรษณีย์แล้ว ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง

พร้อมกับย้ำว่า บ.ไปรษณีย์ไทย มีมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งการทำความสะอาดรถขนพัสดุ ไปรษณียภัณฑ์ ตลอดจนสำนักงานที่มีประชาชนมาใช้บริการ เป็นต้น

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ข่าวลือเรื่องมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากจดหมายหรือพัสดุไปรษณีย์และให้ระมัดระวังการรับจดหมายหรือพัสดุที่มาส่ง เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในช่วงที่มีสถานการณ์ระบาดรอบแรก ย้อนไปเมื่อ 8 เมษายน 2563 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เคยแจ้งเตือนเรื่องนี้ไปแล้วหนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือข่าวปลอมทั้ง 2 ครั้ง ข้อความที่แชร์ยังเหมือนกันทุกถ้อยคำ ทั้งที่ระยะเวลาห่างกันถึง 9 เดือน

5. ยืนตากแดดฆ่าเชื้อโควิด-19 ในร่างกายได้ : เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ แจ้งเตือนโดยอ้างข้อความที่แชร์บนโลกออนไลน์ เสนอให้รณรงค์ชักชวนผู้คนมายืนตากแดดออกกำลังกายยามเช้าเพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรค เพราะเชื้อโรคชอบความเย็น

ซึ่งเวลานั้น กรมควบคุมโรค ก็ฝากเตือนมาว่า เชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา (ซึ่งไวรัสโควิด-19 ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า SARS-CoV-2 ก็เป็นเชื้อตระกูลนี้) สามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศาเซลเซียส แต่ความร้อนของแสงแดดนั้นไม่ถึงระดับดังกล่าว

อีกเกือบ 9 เดือนต่อมา..วันที่ 13 ธันวาคม 2563 หรือเพียงไม่กี่วันก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร ทางกรมควบคุมโรค ได้ฝากผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ให้แจ้งเตือนประชาชนอีกครั้ง

กรณีมีการแชร์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ ระบุว่า การยืนตากแดด 20 นาทีหรือนานกว่านั้น สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ในร่างกายได้ (แถมครั้งนี้อ้างว่าเป็นข้อมูลจากพยาบาลในประเทศอังกฤษอีกต่างหาก) เรื่องดังกล่าวยังไม่เคยมีผลวิจัยใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ที่สำคัญคือเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาทนความร้อนได้ถึง 90 องศาเซลเซียส แสงแดดที่มนุษย์ได้รับนั้นไม่ร้อนถึงระดับดังกล่าวแน่นอน

ทั้งนี้ การป้องกันตัวเองด้วยวิธีสวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ คงดีที่สุดแล้วแม้ว่าต่อไปจะมีวัคซีนก็ตาม

น.ส.สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของข่าวลือข่าวลวง ที่เป็นปรากฎการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะมีการพิสูจน์กันไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ถูกนำกลับมาแชร์กันบนโลกออนไลน์อีกครั้ง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมข่าวลวงอีกเป็นจำนวนมากทั้งที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพและประเด็นอื่น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo