Politics

ยอดโควิดทั่วโลกจ่อทะลุ 90 ล้านคน แนะรัฐ Regional lockdown ระยะสั้น!

ยอดโควิดทั่วโลก ล่าสุดอยู่ที่ 89,991,005 คน จ่อทะลุ 90 ล้านคน ขณะที่ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 1,932,659 คน “หมอธีระ” แนะรัฐ Regional lockdown ระยะสั้น พร้อมเตือนอย่าทำอะไรที่ไม่ควรทำ!!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดโควิดทั่วโลก โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 10 มกราคม 2564 วันนี้ตอนสายจะทะลุ 90 ล้านคน เพิ่ม 10 ล้านโดยใช้เวลา 16.5 วัน

หากดูกราฟการระบาดของโลกจะพบว่า จำนวนการติดเชื้อรายวัน ตั้งแต่ช่วงระบาดลามไปทั่วโลก มักจะติดเชื้อเร่งสปีดโดยใช้เวลาราว 1 เดือน แล้วจะมีความเร็วคงที่ประมาณ 2 เดือน จากนั้น จะอัพสปีดขึ้นจนจำนวนต่อวันเพิ่มประมาณ 2 เท่าแล้วคงที่อีกประมาณ 2 เดือนสลับกันไป

ที่ดูไม่ดี คือ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม เริ่มเห็นการอัพสปีดขึ้น คงต้องลุ้นกันว่าจำนวนการติดเชื้อต่อวันจะขึ้นไปสักเท่าใด และการเริ่มฉีดวัคซีนของ 50 ประเทศทั่วโลกจะช่วยบรรเทาการระบาดได้บ้างไหม

ยอดโควิดทั่วโลกวันนี้

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 762,577 คน รวมแล้วตอนนี้ 89,991,005 คน ตายเพิ่มอีก 13,441 คน ยอดตายรวม 1,932,659 คน 

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 281,614 คน รวม 22,654,899 คน ตายเพิ่มอีก 4,012 คน ยอดตายรวม 380,895 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 18,814 คน รวม 10,451,339 คน
  • บราซิล สถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้นมาก ติดเพิ่มถึง 62,290 คน รวม 8,075,998 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,309 คน รวม 3,379,103 คน
  • สหราชอาณาจักร ทะลุสามล้านไปแล้ว ติดเพิ่มอีกถึง 59,937 คน รวม 3,017,409 คน ติดเชื้อต่อวันเกินห้าหมื่นมาอย่างต่อเนื่องถึง 12 วันแล้ว
  • อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักหมื่นต่อวัน
  • ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น
  • ญี่ปุ่น ติดเพิ่มทำลายสถิติอีกครั้งมากถึง 7,855 คน ยอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าระลอกแรกถึง 10 เท่า
  • แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
  • เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม และกัมพูชามีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 566 คน ตายเพิ่มอีก 14 คน ตอนนี้ยอดรวม 130,049 คน ตายไป 2,826 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%…

วิเคราะห์สถานการณ์ไทยเรา…

เราจะเห็นการแพร่ระบาดที่ต่างจากระลอกแรกอย่างมาก เพราะกระจายเร็ว ไปทุกหนแห่ง ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่แพร่ไปในชุมชน ทำให้พบว่ามีการติดเชื้อในครอบครัว มีการติดจากปาร์ตี้สังสรรค์ที่บ้านระหว่างเพื่อนฝูง และในที่ทำงานในลักษณะต่างๆ กันไป

ดังนั้น จึงต้องเคร่งครัดป้องกันตนเองให้ดี ใส่หน้ากากเสมอ พบปะคนให้น้อยลง ใช้ออนไลน์แทนไปก่อน ระบาดรุนแรงเช่นนี้ไม่ใช่เวลาในการมาเจอกันสังสรรค์กัน

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำคือ “ทำในสิ่งที่ควรทำ และอย่าทะลึ่งไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” 

สิ่งที่ควรทำคือ การหยุดการเคลื่อนที่ไปมาหากันทั้งระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัดที่มีเคสติดเชื้อ ด้วยการหยุดการเดินทางที่ไม่จำเป็นแบบ Regional lockdown ระยะสั้น 2-4 สัปดาห์ พร้อมนโยบายใส่หน้ากาก 100% และประกาศให้ชัดเจนเป็นนโยบาย “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” ไม่อ้อมแอ้มให้ไปคิดกันเอง จัดการกันเองในแต่ละจังหวัด

เราเห็นชัดเจนว่า การตอบสนองของระบาดซ้ำครั้งนี้ ขาดความเป็นเอกภาพ สับสน จนมีการตั้งฉายาอันหลากหลายให้แก่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ “ทราบแล้วเปลี่ยน” หรือแม้แต่ยุคมาตรการแบบ “กลับลำ” ซึ่งจะยากต่อการทำให้เกิดความเชื่อมั่นสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับกระบวนทัพและการจัดการให้เข้มแข็ง เพื่อจะสู้ศึกนี้ให้ชนะ

ในขณะเดียวกัน รัฐต้องไม่หลงคารม บ้าจี้ไปทำตามนโยบาย หรือมาตรการบางอย่างที่ไม่เข้าท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการมองว่าเปลืองงบประมาณ และจะไม่ดูแลกลุ่มคนที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะการพนัน หรือลักลอบเข้าเมือง

มองเผิน ๆ แบบตื้น ๆ ก็คงเห็นว่าแนวคิดนี้เข้าท่า เพราะทำดีควรได้ดี ทำไม่ดีก็ไม่ควรไปช่วยเหลือ

แต่หากทำเช่นที่คิด จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาการระบาดที่รุนแรงหนักหนาสาหัส เพราะคนในที่มืด จะยิ่งหลบในที่มืด ไม่ปรากฏตัว ไม่บอกข้อมูล ไม่ยอมไปตรวจแม้จะไม่สบาย กว่าจะรู้กันก็จะแพร่ให้แก่คนในประเทศไปมากมาย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ในระบบสุขภาพของเราด้วย

การดูแลคนในมุมมืดที่ติดเชื้อนั้นจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่แค่เพราะทำตามหลักจริยธรรมและมนุษยธรรมเพื่อช่วยชีวิตเค้า แต่เหตุผลสำคัญที่จะพลาดไม่ได้เลยคือ การดูแลเพื่อตัดวงจรการระบาด ป้องกันไม่ให้แพร่ไปในคนอื่นในสังคม นี่คือ”การลงทุนเพื่อป้องกัน” ไม่ได้มองแค่มุมจ่ายเงินรักษาคนอื่นโดยสิ้นเปลือง

การมองแบบ “ซื้อมาขายไป” กับการมองแบบ “ยุทธศาสตร์” นั้นต่างกัน

ดังนั้นคนสร้างนโยบายจึงจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์ ไม่ใช่มีทักษะแบบซื้อมาขายไป

การตัดสินใจเชิงนโยบายระดับชาติ จำเป็นต้องมีกลไกถ่วงดุลอำนาจ และกลั่นกรองให้ถ้วนถี่ ก่อนจะนำไปประกาศใช้ดำเนินการ ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบตามมาต่อทุกคนในสังคมครับ

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK