Politics

‘หมอยง’ ชี้โรคระบาดต้องใช้รัฐศาสตร์ ไม่ใช่นิติศาสตร์

โควิด-19 “หมอยง”ต้องใช้รัฐศาสตร์ ไม่ใช่นิติศาสตร์ แนะรัฐต้องผ่อนปรนความผิดทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง หาแหล่งรังโรค

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan  โดยระบุว่า “โควิด-19 การต่อสู้กับโรคร้าย” โรคระบาดจะต้องใช้รัฐศาสตร์ ไม่ใช่นิติศาสตร์ โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อกันได้ง่ายสามารถติดต่อจากผู้ที่ไม่มีอาการไปสู่ผู้อื่นได้

การระบาดที่สมุทรสาคร เป็นจุดศูนย์กลางโดยเริ่มจากแรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในขณะนี้ถ้าจะใช้กฎหมายไปแก้ไขแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะเป็นปัญหาอย่างมากในการควบคุม

โควิด-19

ผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจะยิ่งหลบซ่อน และทำให้ยากต่อการค้นหา สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ทางรัฐบาลจะต้องผ่อนปรนความผิดทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง หาแหล่งรังโรค ไม่ให้หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย เราจึงจะสามารถเอาชนะ โควิด-19 ได้

“ผมเชื่อว่าประชาชนคนไทยทุกคนเข้าใจ และจะได้ไม่เห็นภาพเอาแรงงานไปซ่อน ย้ายที่ หรือไปทิ้งไว้ที่อื่น จะทำให้เกิดการกระจายของโรคและยากต่อการควบคุม”

โควิด-19

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “โควิด-19 ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข” ทุกคนตกใจเมื่อเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนในหนึ่งวัน ความสำคัญการระบาดไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข การระบาดในสิงค์โปร์ร่วม 6 หมื่นคน เสียชีวิตเพียง 29 คน ระบาดส่วนใหญ่ในแรงงานต่างด้าว เป็นกลุ่มก้อน ร่างกายแข็งแรงแทบไม่ต้องรักษาอะไรเลย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่พยายามกักกันไม่ให้ระบาดเข้าสู่ชุมชนชาวสิงค์โปร์

ทำนองเดียวกันในประเทศไทย ถ้าการระบาดในแรงงานต่างด้าวที่อยู่เป็นกลุ่มก้อนก็จะเจอผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญอย่าให้เกิดการแพร่กระจายออกมาภายนอกเป็นวงกว้าง การควบคุมจะได้อยู่เฉพาะที่ การติดตามการสัมผัสที่ออกมาภายนอกจะต้องเร่งรีบควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดได้

การควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การเปิดเกมรุกตรวจแรงงานต่างด้าวทั้งประเทศมีความจำเป็น ไม่ให้เกิดเหตุแบบสมุทรสาครในพื้นที่อื่น การปิดเมืองสมุทรสาครที่มีความจำเป็นการจำกัดเขตไม่ให้ แพร่กระจายวงกว้าง

การระบาดเฉพาะที่ถึงแม้ว่าจะมีตัวเลขหลักร้อยหลักพันในแรงงานรวมกลุ่ม ก็ยังดีกว่าการระบาดกระจายวงกว้าง ถึงแม้จะเป็นหลัก 10 ก็จะทำให้ยากต่อการควบคุมและแพร่กระจายโรค การระบาดในวัยแรงงานก็ยังดีกว่าการระบาดเข้าสู่ประชากรผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว

สิ่งที่สำคัญขณะนี้ ทุกคนต้องช่วยกันมีระเบียบวินัย เคร่งครัดในการปฏิบัติตน ให้โรคจำกัดเฉพาะพื้นที่ถึงแม้จะเป็นหลักร้อย หลักพัน

ส่วนที่ที่บริเวณหน้าวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตจังหวัดสมุทรสาคร วานนี้ (24 ธ.ค.)  มีชาวบ้านกว่า 100 คนจาก 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลโกรกกาก และ ตำบลวัดตึก ได้มีการบอกต่อกัน ให้มารวมตัวกันที่วิทยาลัย

ชาวสมุทรสาคร ฮือต้าน ‘โรงพยาบาลสนาม’

รายงานข่าวระบุว่า ชาวบ้านต่างมารวมตัวกันอย่างรวดเร็ว หลังจากเห็นมีรถทหารหลายคันมาจอดอยู่หน้าวิทยาลัย เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ชาวบ้านต่างไม่ยอมไม่พอใจอย่างมาก ต่างยืนขวางไม่ให้รถทหารเข้าไปภายใน เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามได้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด ชาวบ้านต่างเอะอะโวยวาย ด้วยอารมณฺเดือดดาล ประกาศไม่ยอมให้มีการสร้างโรงพยาบาลสนามท่าเดียว แม้จะมีการพยายามเจรจายื่นข้อเสนอ แต่ชาวบ้าน ยืนยันที่จะคัดค้าน โดยระบุว่า ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ทำไมไม่มาเจรจาสอบถามความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ก่อน

โควิด-19

ตัวแทนชาวบ้านอ้างว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย อีกทั้งในชุมชนทั้ง 3 ตำบลเหล่านี้ มีประชาชนนับหมี่นคนเด็กเล็กอีกจำนวนมาก กลัวว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ชาวบ้านต่างเสนอให้ไปสร้างโรงพยาบาลสนามที่ท่าเรือประมง เรือที่ปลดระวางแล้วในทะเล จะไม่ส่งผลกระทบกับใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ยิ่งเวลาผ่านไปนานยิ่งทำให้ชาวบ้านออกมารวมตัวกันมากขึ้น จนเจ้าหน้าที่ทหารต้องถอยกลับออกไป จากพื้นที่โดยเร็ว

แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่จะถอยออกไปแล้ว แต่ชาวบ้านต่างก็ยังไม่ไว้ใจยังคงเฝ้าจับกลุ่มอยู่หน้าวิทยาลัย กันไม่ให้ใครขนอุปกรณ์ใดๆ เข้าไปได้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ทางด้านพื้นที่บริเวณสวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เตรียมทำเป็นโรงพยาบาลสนามด้วยนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านก็ไม่ยินยอมเช่นกัน

โควิด-19 พุ่งเจอเกือบ 100 ราย 

วานนี้ (24ธ.ค.) เฟซบุ๊ก COVID-19 สมุทรสาคร รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า ตัวเลขล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 96 ราย แบ่งเป็นจากการค้นหา 89 รายและผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจเอง 7 รายส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 1,356 ราย แบ่งเป็นจากการค้นหา 1,273 รายและจากผู้ที่เจ้ารับการตรวจ 83 ราย ทั้งนี้ในการค้นหา 1,273 ราย เป็นผู้ติดเชื้อคนไทย 56 รายและแรงงานต่างด้าว 1,217 ราย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ทั้งหมด 12,964 ตัวอย่าง ทราบผลตรวจแล้วรวมทั้งหมด 6,964 ราย สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในสถานพยาบาลตอนนี้ทั้งหมด 73 รายและยังไม่มีผู้เสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight