Politics

น้ำท่วมภาคใต้กระทบหนัก! คาดทำเกษตรกรสูญรายได้ 6,600 ล้านบาท

น้ำท่วมภาคใต้ ช่วงธันวาคม 2563 กระทบถึงมีนาคม 2564 “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ฉุดผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน รายได้เกษตรกรสูญเสียราว 6,600 ล้านบาท

ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ได้มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และ ภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับ มีหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม น้ำไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ยะลา และกระบี่  จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ก็ยังคงส่งผลกระทบ ต่อพืชเศรษฐกิจ ในพื้นที่ โดยได้สร้างความเสียหาย ต่อพืชเกษตรสำคัญในภาคใต้ คือ ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบในเบื้องต้น ต่อมูลค่ารายได้เกษตรกร ที่สูญเสียไป ของยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน จากผลของน้ำท่วมในภาคใต้ รวมอยู่ที่ราว 6,600 ล้านบาท ซึ่งกินระยะเวลาที่เกิดน้ำท่วม ตั้งแต่ธันวาคม 2563 และสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงมีนาคม 2564 จนทำให้เกิดความเสียหาย ของผลผลิต ที่เกิดจากต้นพืชตาย และ ความเสียหายของผลผลิต ที่เกิดจากผลผลิตลดลง รวมแล้ว ฉุดผลผลิตยางพารา และ ปาล์มน้ำมันเสียหายราว 0.58 ล้านตัน ดังนี้

น้ำท่วมภาคใต้

หากพิจารณา ในมูลค่ารายได้เกษตรกร ที่สูญเสียไปจากน้ำท่วมในภาคใต้ เป็นรายพืช พบว่า ตลอดช่วงเวลาที่ประเมิน คือ ตั้งแต่ธันวาคม 2563 – มีนาคม 2564 ยางพารา จะสร้างความสูญเสีย ต่อรายได้เกษตรกร ชาวสวนยางราว 4,075 ล้านบาท (ฉุดผลผลิตยางพาราเสียหายราว 0.08 ล้านตัน) ซึ่งมากกว่า ปาล์มน้ำมัน ที่สร้างความสูญเสียต่อรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มราว 2,524 ล้านบาท (ฉุดผลผลิตปาล์มน้ำมันเสียหายราว 0.5 ล้านตัน)

โดยการประเมินความเสียหาย จะแบ่งออกเป็นความเสียหาย ที่เกิดจากต้นพืชตาย ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรง จากน้ำท่วม ส่งผลให้ต้นยางพารา และ ปาล์มน้ำมันตาย หมายถึง เนื้อที่เพาะปลูก ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หรือ ได้ผลผลิตไม่เกิน 10% ของผลผลิต ที่เคยได้รับในปีปกติ โดยกินระยะเวลา ในเดือนธันวาคม 2563 และ ความเสียหายที่เกิดจากการที่ผลผลิตลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยอ้อม จากน้ำท่วม ที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ ที่ได้จากต้นพืชลดลง ในระยะข้างหน้า

ภายใต้สมมติฐาน ที่ช่วงเกิด น้ำท่วมภาคใต้ ในเดือนธันวาคม 2563 จะสร้างผลกระทบ ให้ผลผลิตต่อไร่ ลดลงบางส่วน ในเดือนธันวาคม 2563 และ ลดลงต่อเนื่องออกไปอีกราว 3 เดือนข้างหน้า (มกราคม – มีนาคม 2564) ซึ่งเป็นช่วงเวลา ที่ทั้งต้นยางพารา และ ปาล์มน้ำมันอยู่ในระยะฟื้นฟูจากน้ำท่วม โดยทั้งสิ้น จะกินระยะเวลา ที่ประเมินให้ช่วงความเสียหาย ที่เกิดจากผลผลิตลดลงอยู่ในช่วงธันวาคม – มีนาคม 2564

ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ที่ไม่ได้รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน (เช่น ถนน สะพาน เป็นต้น) และยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งยังต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า

เนื่องจากภาคใต้ ยังคงมีความเสี่ยงของน้ำท่วม จากมรสุมเพิ่มเติมเข้ามาได้อีก อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ คือ คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพียง 0.04% ของ GDP แต่ในระดับภูมิภาค เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ที่ครัวเรือนในภาคใต้ ก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้เกษตรกร (ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวลดลงในปีก่อนหน้า ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน)

อีกทั้งหากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เริ่มคลี่คลายแล้ว จะส่งผลต่ออุปทานยางพารา และปาล์มน้ำมันที่จะทยอยกลับมาผลิตได้ตามปกติ ทำให้ราคามีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง ประกอบกับภาคการส่งออกที่ไม่ดีนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ จะยิ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งราคาสินค้าเกษตรให้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำได้ในระยะข้างหน้า

ดังนั้น จึงนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นโยบายของภาครัฐในโครงการประกันรายได้เกษตรกรระยะที่ 2 (ปี 2564) จะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีในการช่วยประคับประคองรายได้เกษตรกรในภาคใต้ไม่ให้ต้องเผชิญความยากลำบากมากนัก โดยระยะเวลาประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจะครอบคลุมตั้งแต่ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 และระยะเวลาประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มจะครอบคลุมตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo