Politics

เตือนแล้วนะ! ‘โฆษกรัฐบาล’ เผยคลังลุยฟันคนโกง ‘คนละครึ่ง’ แล้ว

คนละครึ่งเฟส 2 เตรียมเปิดลงทะเบียนเพิ่มอีก 5 ล้านสิทธิ วันที่ 16 ธันวาคม 2563 “โฆษกรัฐบาล” เตือนกลุ่มผู้แสวงหาประโยชน์จากโครงการ ลั่นคลังเดินหน้าเอาผิดแล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการ คนละครึ่งเฟส 2 ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะมีการเพิ่มสิทธิให้ประชาชนอีก 5 ล้านสิทธิ ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ว่า ทางรัฐบาลได้รับรายงานว่า มีบุคคลหลายกลุ่ม ที่ยังคงดำเนินการในลักษณะไม่ถูกต้องตามระเบียบของโครงการฯ พยายามแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นแล้ว ดังนั้น จึงขอเตือนผู้ที่ดำเนินการเหล่านี้ให้หยุดการกระทำดังกล่าว

คนละครึ่งเฟส 2

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือกับ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และร้านค้าธงฟ้า จำนวน 277 ราย ตามที่ประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ว่า พบพฤติกรรมการฉวยโอกาส และเอารัดเอาเปรียบ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีการฉวยโอกาสเกิดขึ้นจริง จึงได้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายแล้ว โดยแบ่งเป็นการร้องเรียน ร้านค้าในโครงการคนละครึ่ง 152 ราย และร้านค้าธงฟ้า 125 ราย

สำหรับพฤติกรรมของพ่อค้าแม่ค้าที่เอาเปรียบ มีทั้ง ปรับราคาขายสูงขึ้น จากราคาปกติ ไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า จากก่อนหน้านี้ปิดป้าย หรือแสดงราคาขายสินค้าเป็นภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาไทย เช่น ภาษาอังกฤษ รวมถึงทำผิดเงื่อนไข การเข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้า เป็นต้น

“พฤติกรรมเอาเปรียบของร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและร้านธงฟ้าที่พบมาก คือ มีการปรับขึ้นราคาขายสูงขึ้นจากเดิม บางรายขายราคาสูงเกินจริง หรือไม่มีการปิดป้ายแสดงราคา เพื่อหวังเอาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้เพิ่มขึ้น” นายวัฒนศักย์ กล่าว

การดำเนินการเอาผิดกับร้านค้าดังกล่าว มีทั้งการเปรียบเทียบปรับ กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคา แต่หากพบว่าเป็นพฤติกรรมจงใจเอาเปรียบ หรือโก่งราคา จะมีโทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ กรณีร้านธงฟ้า หากกระทำผิดเงื่อนไข กรมฯ จะดำเนินการตัดสิทธิ์ ออกจากการเป็นร้านธงฟ้าทันที เพราะได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่างจากภาครัฐ แต่กลับเอาเปรียบประชาชน และซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการ คนละครึ่งเฟส 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ผ่านการบริโภคจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยภาครัฐ จะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่งในปัจจุบัน

โดยโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 นี้ แบ่งกลุ่มผู้ใช้สิทธิเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • ผู้ได้รับสิทธิเดิม ไม่เกิน 10 ล้านคน จะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนจากรัฐเพิ่มเติมคนละ 500 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งเมื่อรวมกับวงเงินตามสิทธิที่มีอยู่เดิม 3,000 บาท เท่ากับจะมีวงเงินรวม 3,500 บาท สามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
  • ผู้ลงทะเบียนใหม่ ไม่เกิน 5 ล้านคน จะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนจากรัฐคนละ 3,500 บาท สำหรับใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการ คนละครึ่งเฟส 2 ว่า จะมีการเพิ่มปุ่มในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ให้ผู้ที่มีสิทธิในโครงการคนละครึ่งกลุ่มเดิม กดยืนยันการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 และสำหรับกลุ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ 5 ล้านคน กระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนด้วยวิธีการเดิม ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ในระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น.

คนละครึ่งเฟส 2

สำหรับคุณบัติผู้ลงทะเบียน ได้แก่

  • ผู้ลงทะเบียนต้องมีสัญชาติไทย
  • มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • มีบัตรประจำตัวประชาชน
  • ไม่ใช่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ ในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะแรก สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ได้ใหม่

นอกจากนี้ ขอย้ำว่าผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะแรกและระยะที่ 2 จะไม่สามารถใช้สิทธิมาตรการช้อปดีมีคืนได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่จำแนกกลุ่มเป้าหมายของโครงการและมาตรการต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนไม่ให้ซ้ำซ้อนลักลั่นกัน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคนละครึ่ง ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 9.4 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 9,537,093 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 39,318 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 20,091 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 19,227 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 176 บาทต่อครั้ง

โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรีนครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ ตามลำดับ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo