Politics

6 เรื่องใหม่ในกฎหมายปปช.บนแรงเสียดทาน

051018 worrawit 1

วันนี้ (5ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ บทบาทและหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561” โดยมีผู้ร่วมเสวนา นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา

“วรวิทย์”ย้ำปีหน้าเร่งเคลียร์ 6 พันคดี

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่าไทยพัฒนาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จนกระทั่งมี ป.ป.ช.เมื่อปี 2540 ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องตรวจสอบหมดเลยตั้งแต่เรื่องใหญ่จนถึงเรื่องเล็ก จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงคือในข้าราชการระดับเล็ก ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาปี 2560 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกว่าให้ ป.ป.ช.รับผิดชอบการทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด โดยให้ ป.ป.ช.สามารถโอนถ่ายงานไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมรับผิดชอบได้ 

สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด มีการวางบทบาท ป.ป.ช.เอาไว้อีกว่า ให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่ทั้งป้องกันการทุจริต  สามารถเสนอแนะมาตรการป้องกันการทุจริตกับหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอให้เรื่องเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ก่อน  ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล และปราบปรามการทุจริตมากขึ้นไปอีก

เงื่อนเวลาบีบบังคับจนท.ปปช.แห่ลาออก

ส่วนด้านปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมามีปัญหาว่า คดีหมดอายุความไปก่อน กฎหมายฉบับใหม่ มีการแก้ไขว่า งานของ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการให้เสร็จเป็น เวลา 2 ปี ขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง เมื่อรวมการขยายเวลาแล้วเป็น 3 ปี ยกเว้นเรื่องในต่างประเทศ ก็ให้มีการขยายเวลาได้ตามความเหมาะสม

กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ได้เร่งรัดการทำงานของป.ป.ช. หากไม่ทำงานตามเวลา หรือทำคดีล่าช้า ให้มีการดำเนินการทางวินัย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ลาออกไปร่วมร้อยคน

สำหรับกรอบเวลาทำงานตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นายวรวิทย์ กล่าวว่า ยังส่งผลไปยังอัยการด้วย อัยการถูกบังคับเวลาทำงานว่า ต้องสั่งฟ้องให้ได้ภายใน 180 วัน เว้นแต่สำนวนที่อัยการรับมาจาก ป.ป.ช.นั้นไม่สมบูรณ์ ก็ต้องมีการส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งคณะกรรมการร่วมกับอัยการเพื่อรวบรวมหลักฐานให้เสร็จภายใน 90 วัน หากยังหาข้อยุติไม่ได้ให้ ป.ป.ช. ฟ้องเองได้

นายวรวิทย์ กล่าวถึงภารกิจการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมด้านการปราบปรามการทุจริต ถือว่าเป็นเครื่องมือช่วย ป.ป.ช. ทั้งด้านการปราบปรามและการป้องกัน

เดิมที่นั้นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลง คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้มีการระบุว่า ต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ก็ให้ไปยื่นบัญชีทรัพย์สินกับหน่วยงานที่สังกัดอยู่

อยู่กินฉันสามี-ภรรยาต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

นอกจากนี้ การยื่นบัญชีทรัพย์สินยังมีการเข้มข้นมากขึ้น  เมื่อก่อนให้ยื่นเฉพาะผู้ยื่นและคู่สมรส ได้เพิ่มขอบเขตว่า ที่อยู่กินกับผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉันสามีภรรยา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย

ผู้ที่ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็มีการลงโทษที่แรงขึ้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลที่อาจจะตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต หรือไม่ให้เข้าไปมีส่วนในการเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

ส่วนกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า ป.ป.ช.มีการทำคดีที่ผ่านมาล่าช้า จนมีคดีคั่งค้างอยู่มากนั้น ต้องขอชี้แจงว่าข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังมีคดีที่คั่งค้างประมาณ 17,000 คดี ในจำนวนนี้มีประมาณ 14,000 คดี ยังอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ดำเนินการสะสางคดีไปแล้ว 4,000 คดี  ส่วนปี 2562 ป.ป.ช.ตั้งเป้าไว้ว่าจะสะสางคดีที่ค้าง 6,000 คดี ให้เสร็จสิ้น

051018 pootep

ข้อดีกฎหมายให้คนนอกร่วมตรวจสอบทุจริต 

ขณะที่นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตว่าปี 2561 มีการบัญญัติกรอบเวลาการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.เพื่อปราบการทุจริตอย่างชัดเจน และทำหน้าที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายมีการเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถแต่งตั้งให้คนนอกสามารถเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้คดีที่ใหญ่ๆ และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้างได้ 

เมื่อบุคคลภายนอกถูกแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ สามารถเข้ามาสืบสวนได้กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และถ้าบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเข้ามาทำผิดเสียเองก็จะได้รับโทษ 2 เท่าเช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กระทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคุ้มครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาทำหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. โดยมีบทคุ้มครองพยานให้กับประชาชนหรือสื่อมวลชนที่เข้ามาแจ้งเบาะแสได้ ถ้าพยานถูกฟ้องร้อง เขาก็สามารถอ้างกลับโดยยึดตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯได้

ส่วนของเครื่องมือการปราบการทุจริต กฎหมายฉบับนี้ยังมีเครื่องมืออำนวยความสะดวก โดยขอให้เอกชนดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.ร้องขอได้ในแง่ของการส่งข้อมูล  ถ้าเอกชนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตามมา

ในกฎหมายยังระบุด้วยว่า ป.ป.ช.สามารถดึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นมาร่วมกันสอบสวนกับ ป.ป.ช.ได้  ถือว่าเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการปราบการทุจริตโดยร่วมกันทุกหน่วยงาน

สำหรับกรณีการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น นายภูเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช. สามารถส่งคำเตือนไปยังผู้ที่ไม่ยื่นได้เช่นกัน  หากพบว่ามีเจตนาปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. จะส่งเรื่องฟ้องศาลได้  นี่คือสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด

นายภูเทพ กล่าวถึงการป้องกันการทุจริต มีการกำหนดบทคุ้มครอง เช่นเจ้าหน้าที่ระดับผู้น้อยถูกบังคับ กดดันให้ทำผิด ถูกครอบงำจากผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่า กฎหมายใหม่ก็คุ้มครองให้สามารถมายื่นหนังสือให้กับ ป.ป.ช.ภายในระยะเวลา 30 วัน บุคคลนั้นก็จะถูกกันตัวไว้เป็นพยานและไม่ต้องรับโทษ

ทั้งนี้ นายภูเทพ กล่าวด้วยว่า ในส่วนกรณีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่่นนั้น ถ้าหาก ป.ป.ช.รับเรื่องแล้วพิจารณาว่าอยู่ในหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ป.ป.ช.ก็สามารถส่งไปให้หน่วยงานอื่นด้วย และถ้าเป็นประเด็นคาบเกี่ยวที่เกี่ยวข้องกับทั้ง ป.ป.ช.และหน่วยงานอิสระอื่นๆ ตรงนี้ ป.ป.ช.และหน่วยงานนั้นๆ ก็ต้องมีการหารือพูดคุยกัน ว่าจะดำเนินคดีในรูปแบบอย่างไร

051018 Banjerd

6 เรื่องใหม่หวั่นเจอแรงเสียดทาน 

นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  มีเรื่องใหม่อยู่  6 ประเด็น

  1. เน้นการมีส่วนร่วมและป้องกันการทุจริต
  2. ทำให้ ป.ป.ช. โปร่งใส
  3. รวมศูนย์เรื่องทุจริตอยู่ที่ ป.ป.ช.
  4. มุ่งบูรณาการกับหน่วยงานที่ตรวจสอบ
  5. กระบวนการไต่ส่วนที่มีประสิทธิภาพ
  6. ให้มีกองทุนฯ สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

“การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องให้น้ำหนักทั้งการป้องกัน ปราบปราม และการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สมดุล”

นายบรรเจิด ขยายความถึงประเด็นการทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โปร่งใสนั้น การเข้าชื่อของ ส.ส.และ ส.ว.เป็นของที่มีมาเดิม หากคณะกรรมการป.ป.ช.  ดำเนินการขัดต่อกฎหมาย แต่สิ่งที่ต่างของเดิม เมื่อส.ส.และส.ว.เข้าชื่อและร้องไปที่ประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ  แต่ของใหม่ ให้ร้องไปที่ประธานรัฐสภา  หากประธานรัฐสภาเห็นว่า มีเหตุควรต้องสงสัยให้ส่งไปที่ศาลฯ 

“จุดตรงนี้ คือ ประธานรัฐสภา ขึ้นอยู่กับภาคการเมืองต่อจากนี้ จะมีแรงเสียดทานหรือไม่ การให้ขึ้นอยู่กับความเห็นประธานรัฐสภา จากของเดิมไปที่ศาลฎีกา ไม่เกี่ยวกับการเมือง นี่คือกลไกใหม่  ที่เมื่อก่อนไม่มีตรงนี้”

นายบรรเจิด กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประธานวุฒิสภาดูแล นี่คือสิ่งที่เน้นให้เห็นว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบคนอื่น กรรมการก็ต้องแสดงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ นี่คือจุดที่เปลี่ยนไปจากเดิม 

051018 prasong

ปราบทุจริตต้องเปิดข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า ในกฎหมายใหม่ คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ป.ป.ช. ถือว่าเข้มข้นมาก แต่ปัญหาสำคัญคือการไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว

ดังนั้นผู้ที่เข้ามาเป็น ป.ป.ช.ก็อาจจะตามโลกไม่ทัน ปัญหาอีกประการก็คือกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมามีการปล่อยให้คดีถูกปล่อยคั่งค้างมานาน จนมาถึง 13,000 คดี ยังมีคดีที่มีการร้องเรียนเป็น 10 ปีขึ้นไป

แต่ในกฎหมายใหม่ระบุว่า คดีใดก็ตามที่ยังไม่หมดอายุความก็ให้มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องให้เสร็จในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งก็คือ 2 ปีเลยเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการเร่งรัดให้เสร็จสิ้นกันได้อย่างไร โดยเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย

“หากทำไม่ทันแล้วเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ต้องโดนสอบวินัย ดังนั้นเจ้าหน้าที่สอบสวนของ ป.ป.ช.ก็จะมีทางเลือกอยู่ 2 ทางถ้าหากทำคดีไม่ทันคือ 1.สรุปเป่าคดีเลย หรือ 2. รีบสรุปคดีแล้วก็ไปว่ากันในชั้นอัยการ สรุปคือการเร่งรัดคดีในลักษณะแบบนี้นั้นมีข้อดีและไม่ดี ข้อดีก็คือดูเหมือนว่าเร็ว แต่ข้อเสียคือประสิทธิภาพในการทำคดีซึ่งจะไม่มี ดังนั้นก็ต้องฝากไปยัง ป.ป.ช.ให้เป็นการบ้านด้วย”

นายประสงค์ กล่าวถึงการให้ประชาชนและสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปราบทุจริต สิ่งสำคัญคือต้องเปิดเผยข้อมูล เพราะทั่วโลกระบุแล้วว่า การเปิดเผยข้อมูลนั้นทำให้เกิดความโปร่งใส โดยที่ไม่ต้องไปรณรงค์ให้เสียงบประมาณในการต่อต้านการทุจริตแต่อย่างใด  เมื่อเปิดข้อมูลแล้ว ประชาชนก็มีสิทธิ์จะเข้ามาดูและเร่งรัดให้เกิดการตรวจสอบมากขึ้น จนทำให้เกิดการปราบทุจริตเชิงรุก 

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินให้ ป.ป.ช.นั้น นายประสงค์ กล่าวว่า ในมาตราที่ 106 ที่มีการกำหนดว่าสามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้ เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับมีการกำหนดต่อท้ายด้วยว่า การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้มีระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งก็สงสัยว่าระยะที่แน่นอนคือเท่าไร

หากบัญชีทรัพย์สินฯ ถูกเอาลงจากเว็บไปก่อน ก็จะเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้ามาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ ป.ป.ช.อีก ทั้งๆ ที่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศก็ก้าวไกลไปมากแล้ว ทำให้สงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ  

ขอบคุณภาพ:สำนักข่าวอิศรา 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight