Politics

‘รมว.มหาดไทย’ สั่งผู้ว่าฯ 52 จังหวัดทั่วประเทศรับมือภัยหนาว!

รมว.มหาดไทย สั่งผู้ว่าราชการจังหวัด 52 จังหวัดทั่วประเทศ เตรียมรับมือภัยหนาว กำชับทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุทันทีเมื่อเกิดภัย

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 และจากการคาดหมาย ลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พบว่า ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด จะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2563 ถึงปลายเดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 52 จังหวัดจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณยอดดอย ยอดภู และเทือกเขาจะมีอากาศหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

รมว.มหาดไทย

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้สั่งการไปยัง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้เตรียมความพร้อมรับมือภัยหนาวด้วยการ

1. ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน ติดตามสถานการณ์ ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทำหน้าที่ติดตามสภาวะอากาศ คาดหมายพื้นที่เสี่ยง ที่มีโอกาสเกิดอาการหนาวหรือหนาวจัด การแจ้งเตือน และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวในพื้นที่

2. ประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การกำหนดแนวทาง การจัดเตรียมเครื่องกันหนาว ตลอดจนชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ

3. ให้ทบทวน ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุของจังหวัด โดยเฉพาะการสำรวจปรับปรุงข้อมูลบัญชี ผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการ ทุพพลภาพ สตรีมีครรภ์ และผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบัน และ ปรับปรุงข้อมูลวัสดุอุปกรณ์ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ปัจจุบัน

4. สร้างการรับรู้ประชาชน ในการดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาว พร้อมประสานหน่วยงานด้านสาธารณสุข เฝ้าระวัง และ เตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อ ในช่วงฤดูหนาว และ รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกร ใช้วิธีการไถกลบแทนการเผาตอซัง และวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดมลพิษในอากาศ และปัญหาหมอกควัน

5. กำหนดมาตรการ ในการป้องกันการเกิดอัคคีภัย และลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นแก่นักท่องเที่ยว ที่เดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ทัศนวิสัยจากหมอกหนา เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร และ อัคคีภัยในเต็นท์ที่พักของนักท่องเที่ยว เป็นต้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ รถยนต์ดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ และอุปกรณ์ดับเพลิงให้มีความพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที

“ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุฯ ทันทีเมื่อเกิดภัย พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยทหาร ภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรการกุศล มูลนิธิ และประชาชนจิตอาสา แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเพื่อบูรณาการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวไม่ซ้ำซ้อนกันและเป็นไปอย่างทั่วถึง” รมว.มหาดไทย กล่าว

นอกจากนี้ ขอให้จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาวเป็นสำคัญ

รมว.มหาดไทย

ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 36 จังหวัด รวม 162 อำเภอ 582 ตำบล 2,549 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 93,928 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และชุมพร

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาน จากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 – ปัจจุบัน (11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 06.00 น.)

มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 36 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง อุทัยธานี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี

นครปฐม ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล และสงขลา รวม 162 อำเภอ 582 ตำบล 2,549 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 93,928 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 11 ราย (จันทบุรี ตรัง นครราชสีมา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย ปราจีนบุรี 4 ราย และสุราษฎร์ธานี 3 ราย) บาดเจ็บ 4 ราย (สิงห์บุรี)

แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 34 จังหวัด รวม 138 อำเภอ 550 ตำบล 2,507 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 93,850 ครัวเรือน เสียชีวิต 11 ราย ไม่มีผู้บาดเจ็บ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 31 จังหวัด
ยังคงมีน้ำท่วมขัง 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา

ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากช่อง อำเภอปักธงชัย อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย และอำเภอชุมพวง ระดับน้ำลดลง สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า ระดับน้ำลดลง ชุมพร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน ระดับน้ำลดลง

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี พังงา ชุมพร และอุบลราชธานี รวม 19 อำเภอ 26 ตำบล 36 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 78 หลัง บาดเจ็บ 4 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ภูเก็ต สตูล และกระบี่ รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 6 หมู่บ้าน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK