Politics

‘หญิงหน่อย’ แนะออก ‘พ.ร.ก.ตั้งกก.สมานฉันท์’ ป้องกันรัฐบาลซื้อเวลา

“คุณหญิงสุดารัตน์” เสนอออก “พ.ร.ก.ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์” เพื่อรองรับการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการเจรจาของผู้เห็นต่าง ป้องกันรัฐบาลซื้อเวลา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานสถาบันสร้างไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์หาทางออกของประเทศ ว่า ขอเสนอแนวทางให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดรองรับการตั้งกรรมการสมานฉันท์ เพื่อรองรับการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการเจรจาของผู้เห็นต่าง พร้อมกับกำหนดแนวทางการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและนำหลักยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านสมานฉันท์มาใช้ เพื่อไม่ให้ถูกข้อครหาว่าเป็นการซื้อเวลา แต่จะเป็นทางออกของประเทศที่แสดงความจริงใจ

คุณหญิงสุดารัตน์

ทั้งนี้ เมื่อเสนอเป็นกฎหมายแล้ว มีหลักดำเนินการ 3 ข้อ คือ

1. พักการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเป็นการชั่วคราว
2. ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองชั่วคราวกับผู้ที่เข้ามาร่วมคุยกับคณะกรรมการชุดนี้เพื่อจะไม่ถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา
3. สรุปผลการพูดคุยเป็นรายงานแล้วเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาว่าเห็นชอบในประเด็นใด

“เชื่อว่าจะเป็นแนวทางการปรองดองอย่างแท้จริง และไม่เป็นการซื้อเวลา รวมทั้งจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้เห็นต่าง ให้มีเวทีได้พูด และผลของการหารือสามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะหากคณะกรรมการสมานฉันท์ที่รัฐสภาจะตั้ง ถ้าไม่ตราพระราชกำหนดรองรับ เชื่อว่าจะไม่มีใครเข้าร่วม”

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า ขอให้รัฐบาลเร่งแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว เลิกซื้อเวลา โดยเร่งพิจารณาทั้ง 7 ร่างที่เข้าสู่สภาแล้ว ทั้งร่างของฝ่านค้าน รัฐบาลและไอลอว์ คาดว่าจะเห็นชอบวาระ 3 ในช่วงเดือนธันวาคม และหลังจากนั้นหากนายกรัฐมนตรีเสียสละลาออก จึงจะเดินหน้าประเทศต่อไปได้ โดยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีกรอบทำงาน 8 เดือน คาดว่า ปลายปี2564 จะคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้ง จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนข้อเรียกร้องเรืองการปฏิรูปสภาบันฯ ของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่สามารถพูดคุยข้างนอกได้ และดำเนินคดีกับคนที่พูดถึง ซึ่งสร้างความบอบช้ำให้กับทุกภาคส่วน การมีเวทีรองรับ เปิดให้พูดเหตุและผล โดยผ่านคณะกรรมการที่ตั้งโดยกฎหมายจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงสุดารัตน์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan ว่า ข้อเสนอต่อ การแสวงหาทางออกให้ประเทศ

กรณีที่ประธานรัฐสภาเสนอมีการเสนอจัดตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” โดยให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดำเนินการนั้น
ดิฉันเห็นว่า “หาก” จะมีการจัดตั้งกรรมการชุดนี้จริง พลเอกประยุทธ์ต้องแสดงความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา และ ต้องการแสวงหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริงก่อน โดยต้องออกเป็น “พระราชกำหนด” ในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ และกำหนดระยะเวลาในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ให้สั้นที่สุด เช่นไม่เกิน 5 เดือน

โดยนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ (Retroactive Justice) ที่ทั่วโลกใช้มาใช้เป็นหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความไว้วางใจที่จะเข้ามาร่วมพูดคุยแสวงหาทางออกให้ประเทศร่วมกัน โดยให้ผู้พูดคุยมั่นใจว่าจะสามารถพูดคุยได้อย่างปลอดภัย และนำข้อเสนอที่เห็นพ้องกันแล้วไปสู่การปฏิบัติจริง

โดยเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายที่มีหลักการสำคัญ ประกอบด้วย

  1. ให้พนักงานสอบสวน อัยการ และผู้พิพากษา พักการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพูดคุย หากผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวให้ปล่อยตัว เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าสู่เวทีเจรจาโดยไม่ต้องพะวงกับการถูกตามจับ หรือถูกออกหมายจับเรื่อยๆ เหมือนเป็นการกลั่นแกล้ง
  2. ให้ผู้ที่พูดคุยเจรจาในเวทีที่รัฐสภาตั้งขึ้นได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในอันที่จะไม่ถูกฟ้องทั้งในทางแพ่งหรือทางอาญา เพื่อให้เป็นเวทีปลอดภัยที่ทุกฝ่ายจะสามารถพูดคุย และเสนอข้อเรียกร้องอันจะทำให้ทุกเรื่องได้คุยกันในคณะกรรมการ แทนการพูดในที่สาธารณะ ที่ไม่ปลอดภัย และอาจผิดกฎหมาย
  3. เพื่อให้ข้อเสนอของที่ประชุมนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการกลั่นกรอง ให้นำข้อเสนอของที่ประชุมเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา หากที่ประชุมเห็นด้วยในประเด็นใดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติให้เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

แบบนี้ดิฉันเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าสู่เวทีพูดคุยโดยไม่มีข้อรังเกียจ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และสมาชิกวุฒิสภาต้องแสดงความจริงใจ และรับผิดชอบต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ที่ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ สร้างขึ้น ด้วยการ นำมาร่างแก้ไขทั้ง 7 ร่าง ที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และร่างของภาคประชาชน ที่ผ่าน ILaw มาพิจารณาในรัฐสภาให้แล้วเสร็จ ทั้ง 3 วาระภายในต้นเดือน “ธันวาคม”

โดยเฉพาะสองมาตราสำคัญ คือ ม. 256 เพื่อให้มีการเลือกสสร.จากประชาชน และ ม. 272 เพื่อตัดอำนาจ สว. ไม่ให้มีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป

ซึ่งหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 3 ในต้นเดือนธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ ควร “เสียสละ” ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้วิกฤติความขัดแย้งของชาติที่มีตัว พล.อ.ประยุทธ์เป็นศูนย์กลาง ได้ยุติลง จากนั้นให้เร่งดำเนินการเลือก สสร. เพื่อให้เป็นตัวแทนประชาชน มาร่างรัฐธรรมนูน “ฉบับของประชาชน” ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

สังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยย่อมจะมีความแตกต่างทางความคิดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ความเป็นอารยะของสังคมสามารถพิสูจน์ได้จากวิธีจัดการกับความขัดแย้งทางความคิดนั้น

หลายประเทศเคยมีความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การเข่นฆ่ากลางเมืองแล้ว เช่น ตายนับล้านคนในประเทศรวัลดา หรือตายนับแสนคนในประเทศเซียร่า ลีโอน เป็นต้น ประเทศเหล่านั้นใช้กระบวนการสร้างความปรองดอง (Reconciliation Process) โดยนำหลักในการแสวงหาทางงออกให้กับประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo