Politics

ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ไอติม’ เสนอจัดประชามติ 4 ข้อ รอบเดียวจบ

ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” เสนอจัดประชามติ 4 ข้อ ใช้จุดร่วมทั้ง 3 ร่าง เลือกที่มา สสร. โดยต้องเปิดให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่รัฐสภาคิดแทน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu” ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการเปิดประชามติ 4 ข้อ เพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ โดยระบุว่า

ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

[#แก้อย่างไรให้ถามประชาชน : ข้อเสนอจัดประชามติ 4 ข้อ รอบเดียวเสร็จ – อย่าปล่อยให้รัฐสภาคิดแทน แต่เปิดให้ประชาชนตัดสินเองว่าอยากได้ สสร. แบบไหนและแก้หมวดใดได้]

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนสำคัญในการหาทางออกให้กับประเทศ แต่เป็นประเด็นที่ประชาชนมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีบางกลุ่มที่ยังคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง (เช่น กลุ่มไทยภักดี) แต่แม้ภายในกลุ่มคนที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข ก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด

ผมมีข้อเสนอ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผมหวังว่าจะพอเป็นแนวทาง ในการหาฉันทามติ จากทุกฝ่ายได้

ถ้าเราพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่าง ที่ถูกเสนอต่อรัฐสภา (ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่างของภาคประชาชน หรือ iLaw) เราจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ร่างมีจุดร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือการให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เพียงแต่ 3 ร่างมีจุดต่างในเรื่องของรูปแบบของ สสร. (เลือกตั้ง หรือ แต่งตั้ง) ระบบเลือกตั้งในการเลือกสมาชิก สสร. ในส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง (ใช้จังหวัด หรือ ประเทศ เป็นเขตเลือกตั้ง) และ เงื่อนไขของ สสร. (แก้ หมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ได้หรือไม่)

1. ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล สสร. มาจากเลือกตั้งผสมแต่งตั้ง + ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง + ห้ามแก้ หมวด 1 และ หมวด 2

2. ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด + ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง + ห้ามแก้ หมวด 1 และ หมวด 2

3. ร่างของภาคประชาชน (iLaw) สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด + ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง + แก้ไขได้ทุกหมวด

สิ่งที่ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องมารอลุ้น หรือคอยเรียกร้อง คือ รัฐสภาจะโหวตผ่านร่างไหน (หรือไม่โหวตผ่านร่างไหนเลย) ในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

ผมคาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงที่รัฐสภา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส. รัฐบาล และ ส.ว.) จะโหวตผ่านร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งผมมองว่าไม่เพียงพอ ต่อการสร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย

แต่ถึงแม้ตัวผมเอง ได้ร่วมรณรงค์ในการล่า 100,732 รายชื่อเพื่อยื่นให้รัฐสภาพิจารณาและโหวตผ่านร่างของภาคประชาชน แต่ผมก็ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับผม

สิ่งที่ผมอยากเสนอตอนนี้ คือ แทนที่เราจะให้รัฐสภามากำหนด หรือล็อกสเปคว่า จะให้ตั้ง สสร. แบบไหน และ แก้ไขหมวดใดได้บ้าง เราควรให้อำนาจการตัดสินใจนั้น ตกเป็นของประชาชนโดยตรง ผ่านการลงคะแนนในประชามติที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐสภาจะโหวตผ่านร่างไหนก็ตาม (ตาม มาตรา 256)

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ วัชรสินธุ

ทั้งหมดนี้ สามารถทำได้ผ่านการจัดประชามติครั้งเดียว ที่มีการถามทั้งหมด 4 คำถามพร้อมกัน

1. เห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่? (ต้องถามอยู่แล้ว ตามมาตรา 256)

– A. เห็นด้วย

– B. ไม่เห็นด้วย

2. (หากมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) อยากให้ สสร. เป็นรูปแบบใด?

– A. สมาชิกมาจากการเลือกตั้งหมด

– B. สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง ผสมกับมาจากการแต่งตั้ง

3. (หากมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) อยากให้ใช้ระบบเลือกตั้งใด ในการเลือกสมาชิก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง?

– A. ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

– B. ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

4. (หากมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) อยากให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาแก้ไขหมวดหรือมาตราใดได้บ้าง ตราบใดที่ยังคงไว้ซึ่งการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเป็นรัฐเดี่ยว? (ตาม มาตรา 255)

– A. พิจารณาแก้ไขได้ ทุกหมวด

– B. พิจารณาแก้ไขได้ ทุกหมวด ยกเว้น หมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์)

พอเป็นประชามติที่มี 4 คำถามเช่นนี้ แทนที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่กำลังรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญจะต้องมากดดันหรือลุ้นกับท่าทีของรัฐสภา ก็สามารถไปรณรงค์กับประชาชนโดยตรงได้ในการลงคะแนนเสียงประชามติ

ใครที่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ก็สามารถโหวต 1B

ใครที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล ก็สามารถโหวต 1A-2B-3B-4B

ใครที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเว้นพรรคก้าวไกล) ก็สามารถโหวต 1A-2A-3B-4B

ใครที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผม (https://www.facebook.com/paritw/posts/5095987140414992) iLaw หรือ พรรคก้าวไกล ก็สามารถโหวต 1A-2A-3A-4A

ข้อเสนอการทำประชามติ 4 คำถามแบบนี้ เป็นสิ่งที่รัฐสภาเลือกทำได้ เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ใช้งบประมาณการทำประชามติแค่ครั้งเดียว (ซึ่งถ้าจัดพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นปลายปี ก็ใช้งบประมาณน้อยมาก)

ในมุมสากล การทำประชามติที่มีหลายคำถามก็เป็นเรื่องปกติ เวลาต้องการความเห็นของประชาชนโดยตรง

ในการทำประชามติในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประเทศชิลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการถาม 2 คำถามที่คล้ายกับคำถามที่ 1 และ 2 ในข้อเสนอด้านบน โดยประชาชนชาวชิลีเกือบ 80% โหวต “เห็นด้วย” กับทั้งการตั้ง สสร. เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ การกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (https://www.bbc.com/news/world-latin-america-54687090)

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้นของทางออกของประเทศ และผมหวังว่า ในวันที่รัฐสภา มีการประชุมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเร็ว ๆ นี้ รัฐสภาจะไม่คิดแทนประชาชน ว่าแก้หมวดใดได้บ้าง หรือ ว่า สสร. ควรมาจากไหน แต่จะโหวตเพื่อเปิดให้ประชาชนตัดสินใจเองโดยตรง ถึงคำถามเหล่านี้ ผ่านการลงประชามติใน 4 ข้อ

ป.ล. ใครที่อยากแสดงความเห็นใน 4 ข้อนี้ สามารถมาร่วมโหวตได้ตาม link นี้ (เปรียบเสมือนประชามติจำลอง) : https://forms.gle/nZwdrVeSFb4jFnsD9

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo