Politics

‘อานันท์’ ถาม ‘บิ๊กตู่’ ได้ยินเสียงเด็กเรียกร้องให้ลาออกหรือไม่ ชี้เริ่มต้นผิดมา 7 ปีแล้ว

” อานันท์ ปันยารชุน ” อดีตนายกฯ แนะแก้ปัญหาระยะยาว ชี้สังคมขาดความยุติธรรม-เสมอภาค ไม่มีทางสงบ ถาม “บิ๊กตู่” ได้ยินเสียงเด็กเรียกร้องไหม ส่วนจะลาออกหรือไม่เป็นสิทธิ ระบุ เริ่มต้นผิดมา 7 ปีแล้ว

นาย อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวบนเวทีเสวนา นักคิดดิจิทัล  ครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” ในวันนี้ (29 ต.ค.)ว่า วันนี้หลายคนเข้าใจว่า สถานการณ์บ้านเมือง อยู่ในภาวะวิกฤติ แต่คนในรุ่นตนมองว่า ไม่ได้เป็นของผิดปกติอะไร เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้ง ในระยะ 88 ปี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

wer 1

ปัจจุบันปัญหาเมืองไทย เป็นปัญหาที่เรียกว่า เป็นการเมืองเหมือนที่เคยมีมาในอดีต พอมีปัญหาทางการเมือง ทำไปทำมาสู้รบกันเสร็จ ก็มีการรัฐประหาร จากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอเขียนเสร็จก็เลือกตั้ง และตั้งรัฐบาล ต่อมาอีก 7-8 ปี ก็วนเวียนกลับมา ไม่พ้นวงจรนี้

สิ่งที่ทำมาในอดีต 88 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาล หรือมีนโยบายต่างๆ ก็ดี เป็นเรื่องของการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นถึงแก่นรากของประเด็น มองประเด็นแต่เพียงผิวเผิน เมื่อมองผิวเผิน ก็ไม่รู้ว่า เหตุที่ทำให้เกิดประเด็นนี้ขึ้น มาจากอะไร เวลาแก้ก็ไม่ได้แก้ที่ราก แต่ไปแก้ที่กิ่ง ใบ สาขา

ดังนั้น ทางออกที่ผ่านมาในอดีต เป็นทางออกระยะสั้น เหมือนอย่างที่เมืองไทยต้องการความสงบเรียบร้อย  ความสงบเกิดจากอะไร หากเกิดเพราะกฎหมายที่ควบคุม อันนั้นเรียกว่าเป็นความสงบที่ผิวเผิน

ความสงบที่แท้จริงต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบน และไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ ต้องมองว่า ความสงบที่แท้จริงรากอยู่ที่ไหน ตนคิดว่าตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค ก็ไม่มีความสงบ

“ไม่มีสังคมไหนสงบ 100%  หากจับเหตุของปัญหาที่ถูกต้องโอกาสที่เราจะไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำน้อยลงไป ให้คนมีโอกาสมากขึ้นน้อยกว่าเดิม เราก็น่าจะพอใจแล้ว”

นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ในสายตาของตนพูดได้เลยว่า อันนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น สำหรับตนนั้นเป็นดิจิทัล อิกนอแรนท์ เพราะไม่ได้ต้องการ และไม่มีความอยากที่จะเข้าสู่ดิจิทัลเลย

ถ้าเปรียบเทียบประวัติศาสตร์โลก ข้อขัดแย้งของเมืองไทยทุกสมัย เป็นข้อขัดแย้ง ข้อพิพาท ที่ไม่ใช่ระหว่าง 2 ฝ่าย จริงๆ แล้ว ระหว่างคน 2 กลุ่มเท่านั้น เป็นข้อพิพาททางการเมือง โดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ไม่ใช่ข้อพิพาทบนพื้นฐานของศาสนา หรือเชื้อชาติ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่

ตนคิดว่าความวุ่นวายในปัจจุบัน ตนจะไม่พูดถึงข้อเรียกร้องของเขา ความวุ่นวายในปัจจุบัน อ่อนดีกรีมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งเป็นข้อพิพาททางด้านการเมือง ทั้ง 2 เหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน

อานันท์

การใช้อินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า จึงต้องเปิดกว้าง และรับฟังกันให้มาก สรุปแล้ว ตนคิดว่าปัญหาของทุกประเทศเป็นเรื่องที่น่าวิตกในเรื่องการสื่อสารสมัยใหม่ จึงเกิดเฟคนิวส์ต่างๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังว่า จะอ่าน หรือจะฟังอะไร อย่าไปมีข้อยุติเร็วนักว่า เป็นเพราะเหตุนั้นเหตุนี้  ต้องฟัง และพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย  ความรุนแรงทางวาจา หรือ  Hate Speech จะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพทันที

นายอานันท์ ยังได้ตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนา ถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า  การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเขียนหลักการสำคัญ แต่ของไทยมีปัญหาคือ เริ่มต้นจากนักกฎหมายก่อน โดยไม่ได้เน้นที่ประชาชน หมกมุ่นอยู่กับแบบฉบับ หรือวิธีการเลือกตั้ง เขียนยาวละเอียดมากเกินไป และมีการหมกเม็ดในเรื่องต่างๆ มีผลใช้เมื่อมีกฎหมายลูก โดยให้นักการเมืองเขียน ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกฎหมายลูกเอง จะสอดคล้องกันได้อย่างไร

การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกรัฐมนตรี อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และเยาวชนรุ่นเก่าอย่างตนอยากที่จะเห็นว่า ไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

รวมทั้งมาตรา 112  จะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป ต้องวางหลักเกณฑ์แน่นอนว่า อยากเห็นอะไร อีกหลายมาตราก็ต้องปรับปรุงกันไป

อานันท์

“อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ผมก็ไม่รู้”

“แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่ โดยอ้างกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มันไม่ไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่พยายามเข้าใจสถานะของท่านนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ก็ต้องคุยกัน”

ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้ว เด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว ท่านนายกฯ ถามว่า ผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาแอนะล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกัน และพูดกันคนละประเด็น  ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo