Politics

‘นายกฯ’ วอนลองเชื่อใจสักครั้ง ตั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายแก้รัฐธรรมนูญ

“นายกฯ” วอนลองเชื่อใจสักครั้ง ตั้งคณะกรรมการหลายฝ่าย แก้รัฐธรรมนูญ ตามขั้นตอนรัฐสภา ฝากถึง NGO ในประเทศไทย อย่าขวางการพัฒนา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 ต.ค. 63) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาลว่า ยืนยันไปหลายครั้งแล้ว เมื่อคืนกับที่ประชุมรัฐสภา ผมจำเป็นต้องนำพาประเทศต่อไปให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ

นายกฯ แก้รัฐธรรมนูญ

ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็คงไม่ใช่ผมหรือรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนต้องร่วมมือกัน หันหน้ามาเจรจาร่วมมือกัน ในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน อย่างประนีประนอม อย่างสันติวิธีเป็นทางออกที่สุด เพราะนี่คือประเทศไทยและทุกคนก็คือคนไทย

ผมไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครว่าร้ายอะไรผมก็ตาม ผมก็ฟังได้ ผมก็ต้องอดทน เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีไง คงโมโหอะไรมากไม่ได้ เพราะว่าเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ต้องอดทน ต้องไม่โมโห ไม่โกรธง่าย พูดจาให้ไพเราะ วันนี้ผมก็เพราะกว่าหลายๆ คนที่ได้ยินมาในขณะนี้

สำหรับทางออกมีอยู่แล้ว ก็ขอให้เจอทางออกนั้น ไม่มีปัญหาอะไรที่เราแก้ไม่ได้ ก็ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่า เราจะต้องช่วยหนทางที่ดีสุดให้กับประเทศของเรา ไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน

สำหรับ 2 วันที่ผ่านมา ก็ต้องขอบคุณประธาน รัฐสภา สมาชิกรัฐสภาทั้งหลายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 และ 2 (สมัยวิสามัญ) ว่า ทุกท่านร่วมหารือกันอย่างมีวุฒิภาวะและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ มีความเหมาะสม แม้ว่าจะมีสถานการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐสภา ก็ขอให้ประชาชนพิจารณาความเหมาะสมก็แล้วกัน เพราะรัฐสภาไทยก็ไม่ควรมีการกระทำเหมือนต่างประเทศ หลายอย่างก็เป็นพฤติกรรมที่ต่างประเทศมีอยู่แล้ว

28OCT-ประยุทธ์-จันทร์โอชา-

นายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่สามารถสรุปได้จากการประชุม 2 วันคือ ผมสนับสนุนการ แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภา เมื่อเห็นชอบให้มีการแก้ไขตรงนี้ ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะไม่สามารถตั้งกฎหรือกติกาใหม่ได้ทันที เป็นไปไม่ได้

ส่วนกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หมดอำนาจในการยกมือโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น “แล้วแต่ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะไม่เลือกผมก็ได้” โดยเป็นเรื่องของตนเองไม่ติดใจอยู่แล้ว ก็ขอให้เป็นเรื่องที่หารือกันในรัฐสภา

นายกรัฐมนตรียังยืนยัน เห็นพ้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออก ตามแนวทางที่เสนอในรัฐสภา โดยตนนำเรื่องนี้เข้าหารือกับ ครม. แล้ว รัฐสภาน่าจะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีที่มาจากหลายฝ่ายด้วยทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), ส.ว., กลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม  โดยกำชับว่าต้องเป็นหารือโดยสงบ เพื่อหาข้อยุติของปัญหาตามบริบทการเมืองของประเทศไทย เคารพซึ่งกันและกัน เชื่อใจกันและกัน

ต่างคนต่างต้องเคารพสิ่งกันและกัน แต่ถ้าเราตั้งธงไว้ก็ไม่ชอบกันหมด ไม่เชื่อใจกันหมด ลองเชื่อใจกันสักครั้งสิครับ ถ้าเราไม่เชื่อใจกันเลย มันก็ทำอะไรไม่ได้หมด

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ฝากถึงท่าทีขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) จากต่างประเทศว่า ตนคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับแต่ละประเทศ ไม่แสดงความคิดเห็น แต่ขอเราต้องดูว่ากิจกรรมอะไรที่มีปัญหาก็ต้องหารือ ว่าจะต้องไม่ให้มีเจตนาแอบแฝงตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป

ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ขอให้ช่วยประเทศไทยพัฒนาชาติบ้านเมือง บางทีโครงการพัฒนาก็มี NGO ทำให้โครงการพัฒนาช้าลง ในการประชาพิจารณ์ ประชามติ คนภายนอกเข้ามาในพื้นที่ มาแสดงความคิดเห็นต่อต้าน แต่คนในพื้นที่เสียหาย วันนี้ของฝาก NGO ที่อยู่ในเมืองไทย ก็ต้องช่วยพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ ก็เป็ฯพลเมืองประเทศนั้นๆ ก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

S 81526841 e1603374631909

ในการประชุม ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ออกไปอีก 1 เดือน

ทั้งนี้ การขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ในการประกาศใช้

นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และประชุม ครม. สัญจร ที่จังหวัดภูเก็ต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo