Politics

‘นายกฯ’ เปิดไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ คาดเสร็จภายในเดือน ธ.ค.

“พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศพร้อมหนุน “แก้รัฐธรรมนูญ” เต็มที่ คาดพิจารณาวาระ 1 – 3 เสร็จช่วงเดือนธันวาคมนี้ พร้อมแจงหาก “นายกรัฐมนตรี” ลาออกจะเกิดอะไรขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ และเสนอทางออกของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาล ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)

ประยุทธ์2610131

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) หารือกันว่า ควรเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาอย่างไร อีกทั้งตนได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว

นายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จะมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือน พฤศจิกายน ซึ่งการพิจารณาวาระที่ 1-3 น่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องมีการทำประชามติก่อน โดยรัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า และหลังจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงจะมีการทำประชามติ

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งกรณีให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา หรือ แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในทุกเรื่องพร้อมพยายามหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ได้มีการปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมาย กรณีหากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) ความว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

และจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ จากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยต้องมีมติเสี่ยงกึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องรวมทั้งส.ส.และ ส.ว. ด้วย แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมี ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย กรณีการยุบสภาจะส่งผลให้ ครม. พ้นตำแหน่ง ส.ส. พ้นจากตำแหน่งและสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo