Politics

30 จังหวัดอ่วม! ฝนตก น้ำท่วม น้ำไหลหลาก 4 หมื่นครัวเรือนเดือดร้อน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 30 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 45,244 ครัวเรือน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 – ปัจจุบัน (20 ตุลาคม 2563 เวลา 06.00 น.)

มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 30 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง อุทัยธานี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล และสงขลา รวม 105 อำเภอ 366 ตำบล 1,451 หมู่บ้าน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ประชาชนได้รับผลกระทบ 45,244 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (จันทบุรีและตรัง) บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 28 จังหวัด รวม 94 อำเภอ 351 ตำบล 1,427 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 45,185 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดจันทบุรีและตรัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด

ยังคงมีน้ำท่วมขัง 15 จังหวัด ดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่

อุบลราชธานี แม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ประชาชนได้รับผลกระทบ 6 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

นครราชสีมา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ 56 ตำบล 199 หมู่บ้าน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัย อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอปากช่อง อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเสิงสาง สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำทรงตัว

ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่

ปราจีนบุรี น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอกบินทร์บุรี รวม 2 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 134 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

สระแก้ว ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ และอำเภอโคกสูง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

ชลบุรี น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอพนัสนิคม และอำเภอสัตหีบ รวม 10 ตำบล 40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 277 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ฉะเชิงเทรา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอแปลงยาวและอำเภอคลองเขื่อน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่

สุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอพระแสง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 ตำบล ระดับน้ำลดลง

ตรัง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

นครศรีธรรมราช ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่

นครปฐม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกำแพงแสน อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี รวม 38 ตำบล 233 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

กาญจนบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอท่ามะกา และอำเภอห้วยกระเจา รวม 8 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 294 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

อุทัยธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอสว่างอารมณ์ ประชาชนได้รับผลกระทบ 44 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

สมุทรสงคราม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที รวม 19 ตำบล 101 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

สุพรรณบุรี น้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอหนองหญ้าไซ ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,534 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ราชบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอบางแพ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท กาญจนบุรี สิงห์บุรี และพังงา รวม 6 อำเภอ 9 ตำบล 18 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 59 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ภูเก็ต สตูล และกระบี่ รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 6 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังจุดอพยพ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีพ

สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo