Politics

‘กอร.ฉ.’ แถลงยังไม่ปิด ‘รถไฟฟ้า’ แจงคำสั่งระงับเนื้อหาสื่อยังไม่บังคับใช้

“กอร.ฉ.” แถลงยังไม่ปิด “รถไฟฟ้า” แจงคำสั่งระงับเนื้อหาสื่อยังไม่มีผลบังคับใช้ หากพบเนื้อหาบิดเบือนจะถูกระงับเฉพาะบางส่วน โดยตำรวจเป็นผู้ “พิจารณา”

เมื่อเวลา 16.30 น. วันนี้ (19 ต.ค. 63) กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) แถลงข่าวว่า วันนี้ยังไม่มีคำสั่งปิดระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้า BTS, รถไฟฟ้า MRT และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้

ขณะเดียวกัน จะพยายามไม่ปิดการจราจรบริเวณจุดชุมนุมทั้ง 4 จุด ได้แก่ แยกเกษตร, หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, ใต้สะพานภูมิพล และรถไฟฟ้า MRT กระทรวงสาธารณสุข แต่อาจมีพิจารณาปิดเส้นทางจราจรเมื่อผู้ชุมนุมลงไปบนพื้นผิวจราจร

รถไฟฟ้า ม็อบ19ตุลา

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการออกคำสั่งฉบับที่ 4 เรื่องการระงับการออกอากาศสื่อ 5 แห่งว่า การออกคำสั่งดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวม (DES) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆ สำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการระงับเนื้อหาบางส่วนของสื่อที่มีการเผยแพร่ในช่วงสถานการณ์การชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบ พร้อมยืนยันว่า ยังไม่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ และไม่ได้เป็นการปิดสื่อหรือสั่งจอดำแต่อย่างใด

โดยหลักเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณา ในประเด็นนี้ คือสื่อมวลชนจะต้องนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือหากมีการใส่ความคิดเห็นจะต้องเป็นความคิดเห็นที่สุจริต ห้ามบิดเบือนข้อมูล คาดการณ์ หรือชี้นำทุกกรณี ซึ่งหากพบการกระทำผิดที่เข้าข่ายบิดเบือน ทำให้สถานการณ์เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก็จะถูกระงับเฉพาะเนื้อหาที่บิดเบือน และเรียกสื่อหรือต้นสังกัดมาชี้แจง

“ตำรวจจะพิจารณาถึงเจตนาของผู้สื่อข่าว หากพบว่ามีความพยายามจะแก้ไขเนื้อหาให้ถูกต้อง ก็จะถือว่าไม่มีความผิด แต่หากกระทำผิดซ้ำๆ ก็จะถูกนำมาพิจารณาเพื่อดำเนินการเช่นกัน”

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายในประเด็นดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจุบันข่าวถูกเผยแพร่ไปในสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็ว จึงขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอข่าวในสภาวะที่ไม่ปกติ และจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษมาบังคับ รวมถึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ ว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดูแลทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo