Politics

‘The Standard’ แถลงการณ์จี้ กอร.ฉ. ทบทวนคำสั่ง อย่าละเมิดเสรีภาพสื่อ

“The Standard” แถลงการณ์จี้ กอร.ฉ. ทบทวนคำสั่งตรวจสอบข่าว ชี้อย่าละเมิด เสรีภาพสื่อ

จากกรณีที่หัวหน้ากองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) เตรียมคำสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DEs) ดำเนินการตรวจสอบ ให้ระงับการออกอากาศ หรือระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสื่อ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The reporter, The Standard และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH นั้น

The Standard เสรีภาพสื่อ

“The Standard” แถลงการณ์อย่าปิดกั้น เสรีภาพสื่อ

ล่าสุดวันนี้ (19 ต.ค. 63) สำนักข่าว The Standard ออกแถลงการณ์ต่อเรื่องดังกล่าว โดยมีเนื้อหาดังนี้

“จากคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4/2563 กรณีการระงับการออกอากาศ หรือระงับทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของ วอยซ์ ทีวี และหรือสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The Reporters, THE STANDARD และเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH

THE STANDARD ขอแสดงจุดยืนว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้านตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ปราศจากการกดดัน คุกคามในทุกรูปแบบ จึงไม่ควรตกเป็นเป้าและเงื่อนไขไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม

THE STANDARD ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการทำงานของวิชาชีพสื่อ และมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม

ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว ไม่ละเมิดต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างครบถ้วนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

เพราะ เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน

กองบรรณาธิการ THE STANDARD”

The Standard เสรีภาพสื่อ

“ตำรวจ” โต้! ไม่จำกัดเสรีภาพสื่อ แค่ถอดข้อมูลเป็นชิ้นๆ

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวต่อเรื่องดังกล่าวว่า สำหรับคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ต้องออก เพราะได้รับการแจ้งจากหน่วยข่าวว่า ได้มีการนำเสนอข้อมูลอันจะเกิดสับสนและปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบได้จึงประกาศออกมา

คำสั่งดังกล่าวเป็นประกาศ ที่ต้องการให้ กสทช. และกระทรวงดิจทัลฯ ไปพิจารณาเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ได้รับว่า ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ให้หน่วยงานนั้นๆ ไปดำเนินการพิจารณาตามการบังคับใช้กฎหมายในสภาวะปกติ ถ้าต้องการถอดข้อความออกบางช่วงหรือระงับการออกอากาศ ก็ต้องไปขออำนาจศาล

ประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะจำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป กอร.ฉ. ยังไม่มีนโยบายหรือคำสั่งที่จะจำกัดสิทธิ เสรีภาพสื่อ ไม่มีการสั่งปิดสื่อ เป็นเพียงการจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้นๆ หรือเป็นช่วงๆ เวลาไป ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้นได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องออกมาในลักษณะนี้ก่อน

คำสั่ง ปิดสื่อ กอร.ฉ

ว่อนคำสั่งระงับออกอากาศ

สำหรับร่างประกาศปิด 5 สื่อดังกล่าวถูกแชร์เป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ มีเนื้อหาดังนี้

คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข้อ 2 ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบกร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักรนั้น

เนื่องจากปรากฏว่า ได้มีการออกอากาศรายการ ที่มีเนื้อหาสาระ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ทางโทรทัศน์ ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วนของ วอยซ์ทีวี และ/หรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The reporter, The Standard และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 36/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DEs) ดำเนินการ เพื่อตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo