Politics

นักกฎหมายแห่ลงชื่อค้าน ‘รัฐประหารจำแลง’ จี้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทันที

แถลงการณ์ของนักกฎหมาย 452 ราย ต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักกฎหมายมากกว่า 400 คนร่วมกันแถลงการณ์ของนักกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยระบุว่า

ตามที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประเทศเป็นอารยะมากขึ้น และรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กรุงเทพมหานครภายหลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

ตำรวจ181011

จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความ ร้ายแรงฯ ดังกล่าวรัฐบาลออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และข้อห้ามอื่นๆ อีกหลายประการ ส่งผลให้เมื่อมีการชุมนุมอีกในคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย และถูกจับกุมจำนวนมาก

บุคคลผู้มีรายนามข้างท้ายนี้มีความเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลในกรณีดังกล่าวขาดความชอบธรรมและไม่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญ และ หลักกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

จึงขอแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1. ถึงแม้ว่าระบบกฎหมายจะยอมให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้เมื่อ เผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นสภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ทันท่วงที แต่ก็มิได้หมายความว่า ระบบกฎหมายจะอนุญาตให้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามอำเภอใจ หรือ อนุญาต ให้ขยายเหตุที่ไม่มีความร้ายแรงเพียงพอให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการได้มาซึ่งอำนาจตามกฎหมายว่าด้วย สถานการณ์ฉุกเฉิน จนทำให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกลายเป็น “รัฐประหารจำแลง”

การประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้รับ การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้ มาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงกำหนดเงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงว่า จะต้องเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมี เหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลเท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริง ทั้งที่ปรากฏในสื่อไทยและสื่อต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมใหญ่ของประชาชน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ช่วงบ่าย ไปจนถึงย่ำรุ่งของวันถัดมาเป็นการชุมนุมและแสดงออกตามวิถีทางแห่งระบอบ ประชาธิปไตยโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการประทุษร้ายใดๆ ต่อบุคคลและทรัพย์สินที่ถึงระดับ กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ คงมีเพียงการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและผู้ที่เห็นต่างบ้างซึ่งยังสามารถ ดำเนินการตามกฎหมายปกติได้

หากรัฐบาลเห็นว่า ผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วย การชุมนุมสาธารณะ ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและกฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เข้าเงื่อนไขตามที่มาตรา 11 ของพระราชกำหนด ว่าด้วยการบริหารราชการฉุกเฉินฯ บัญญัติไว้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวโดยรัฐบาล ซึ่งอ้างเหตุผลหลายเรื่องผสมปนเปกัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำของรัฐบาล ในกรณีนี้ยังสุ่มเสี่ยงที่จะถูกนานาอารยประเทศมองว่าเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ ต่างประเทศมีต่อประเทศไทย และจะยิ่งซ้ำเติมสภาวะทางเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม ซึ่งผลกระทบสุดท้าย ย่อมตกแก่ประชาชนคนสามัญ

2. แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลในการให้เหตุผล หรือเชื่อมโยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง กับเหตุการณ์รถพระที่นั่งของพระราชินีเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กรณีย่อมเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามขยายเหตุการณ์ ดังกล่าวไปในทางที่เป็นผลร้ายเกินกว่าที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงมาก ถึงขนาดมีการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมบางคนในฐาน ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และแจ้งข้อหานี้เพิ่มเติมกับผู้ชุมนุม ในบริเวณดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ด้วย

มาตรา 110 เป็นกฎหมายอาญาที่มีโทษรุนแรงมากถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้น การตั้งข้อหานี้กับบุคคลใด เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังมิให้มีลักษณะของการตีความตัวบทแบบขยายความจนพ้น ความหมายตามธรรมดาของถ้อยคำ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการใช้และการตีความกฎหมายตามอำเภอใจซึ่งถือเป็นการ บิดเบือนกฎหมาย และอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นการตั้งข้อหาในลักษณะของการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อรับใช้ วัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่ถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น ครบองค์ประกอบความผิด และมีพยานหลักฐานประจักษ์ชัดตามสมควรว่าผู้นั้นหรือกลุ่มคนเหล่านั้นมีเจตนาประทุษร้าย หรือก่อความรุนแรงใดๆ ต่อเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตราดังกล่าวหรือไม่

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมมีเหตุควรเชื่อได้ว่าการที่รถพระที่นั่งฯ ขับฝ่าเข้า ไปในเส้นทางที่ประชาชนกำลังชุมนุมในพื้นที่อยู่ก่อนนั้น อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการประสานงาน เกี่ยวกับเส้นทางเสด็จของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งผู้ชุมนุมล่วงหน้าถึงเส้นทางรถพระที่นั่งฯ ดังกล่าวด้วย จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อรถพระที่นั่งฯ เคลื่อนผ่านผู้ชุมนุมจะเกิดความไม่สะดวกบ้าง

แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามี การขัดขวางใดๆ จากผู้ชุมนุม และสุดท้ายขบวนรถก็สามารถเคลื่อนผ่านไปได้ แม้ผู้ชุมนุมจะแสดงสัญลักษณ์ของการชุมนุม และร่วมกันส่งเสียงแสดงความคิดเห็นบางอย่างออกไป ก็หาใช่การประทุษร้ายและการพยายามประทุษร้ายต่อเสรีภาพของ พระราชินีตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 แต่อย่างใดไม่

การที่รัฐด่วนกล่าวอ้างและตั้งข้อหา ร้ายแรงนี้กับผู้ชุมนุมในบริเวณนั้น จึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และไม่อาจยอมรับได้ และยิ่งไม่อาจยอมรับได้มากขึ้นอีกเมื่อรัฐบาล อ้างเหตุดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อให้ตนมีอำนาจจำกัดลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของผู้ชุมนุมโดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะไม่ต้องการให้มีการชุมนุม ของประชาชนอีกต่อไป เพื่อรักษาสถานะที่เป็นอยู่ (status quo) ของตนเอาไว้ให้จงได้

3. เมื่อปรากฏว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียแล้ว การที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามมิให้มีการชุมนุม จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญและกฎหมายตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดเหล่านั้นจึงไม่อาจเป็นฐานแห่งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ในการสลายการชุมนุมได้ และต้องถือว่าผู้ชุมนุมยังคงมีสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอยู่เช่นเดิม หากจะมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งส่วนใดกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะฯ รัฐก็ต้องไปดำเนินการกับบุคคลในส่วนนั้นต่างหาก โดยต้องตระหนักถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ชุมนุมด้วยเสมอ

ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม เมื่อค่ำวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกปทุมวันและสถานที่ใกล้เคียง ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมกระทำการใดที่ละเมิด กฎหมายอย่างร้ายแรง อีกทั้งผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชนที่เพียงต้องการแสดงความคับข้องใจต่อสถานการณ์ ทางการเมืองและระบบกฎหมายในปัจจุบัน จึงนอกจากจะเป็นการเกินสมควรกว่าเหตุ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ กฎหมายแล้ว ยังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย

โดยอาศัยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ผู้มีรายนามในแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องให้

1. ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ทันที โดยไม่มี เงื่อนไขการปล่อยตัว

2. ถอนข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110

3.เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนสามารถ ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้โดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครอง และ เป็นหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อ่านประกาศฉบับเต็ม ที่นี่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo