Politics

รัฐบาลยืนยัน ‘ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน’ จำเป็น! เพื่อรักษาความสงบ

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็น! รัฐบาลยืนยันเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง ย้ำ! ห้ามชุมนุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ

ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมประกาศ 4 ฉบับว่า สำหรับเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องประกาศ เพื่อให้เกิดความสงบเรียร้อยในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยจะเห็นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่มีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับชาวไทยจำนวนมาก จากกรณีการชุมนุมที่กระทบขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และมีการก้าวล่วงสถาบัน โดยการใช้วาจาปลุกปั่นก้าวล่วง ดังนั้น รัฐบาลป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกันเอง เพราะจะเห็นว่า หลายส่วนไม่ต้องการให้กลุ่มชุมนุมก้าวล่วงและพาดพิง  รวมทั้งไม่ต้องการเหตุการณ์การแบบเมื่อวานขึ้นอีก

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ รัฐบาลจึงต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ระมัดระวังการดำเนินการต่างๆ หลังจากนี้ไป โดยมีข้อกำหนดได้แก่

  1. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใด อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
  2. ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล
  3. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
  4. ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใดๆ และให้ออกจากอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ รัฐบาลมีความกังวลจึงต้องป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และเพื่อป้องกันการเผชิญหน้ากลุ่มที่มีความเห็นต่างกัน ซึ่งคิดว่า การพูดคุยกันในเวทีรับฟังความคิดเห็นสามารถทำได้ รัฐบาลอยากให้ผู้ชุมนุมเคารพในสิทธิและเสรีภาพส่วนรวมด้วย

โดยเฉพาะปัจจุบัน ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังโควิด-19 และด้านเศรษฐกิจ ที่หลายส่วนย้ำว่า ถ้ามาตรการที่จะออกมาและมาตรควบคุมโรคที่ได้รับความชื่นชมจากต่างประเทศ จะไม่ประสบความสำเร็จหากในประเทศไม่สงบเรียบร้อย ดังนั้น ขอให้ระมัดระวังเรื่องที่เกิดกระทบกระทั่งกับปัญหาเหล่านี้ด้วยและเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่สำคัญในโซเชียลมีเดียที่ ต้องขอให้ระมัดระวังการโพสต์ข้อความและความเห็นต่างๆ เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องชุมนุมอย่างเดียว แต่มีการใช้โซเชียลในทางที่ไม่ถูกต้อง ในส่วนของแกนนำหรือผู้กระทำผิดกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แต่รัฐบาลขอให้ทุกคนร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

ทั้งในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขอให้พูดคุยกันด้วยความเรียบร้อย และอยู่ในกรอบของกฎหมาย

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มคณะราษฎร์ ยังคงนัดรวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ ในเวลา 16.00 น. วันเดียวกันนี้ นายอนุชา กล่าวว่า มีการประกาศข้อกำหนดไปแล้วตามที่ตนได้ระบุ ซึ่งอะไรที่นอกเหนือนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินการ จึงขอให้ระมัดระวังเรื่องการทำผิดกฎหมายให้มาก เพราะประกาศและคำสั่งต่างๆ มีผลบังคับใช้ทันทีหลังลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะเล็ก โดยวาระเพื่อให้ครม.รับทราบและเห็นชอบในประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่ออกมา

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่า จะไม่ให้มีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า จริงๆ ชุมนุมไม่ได้อยู่แล้วตามประกาศ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งรวมทุกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ราชประสงค์

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำมาตลอดว่าตอนนี้อยากให้ทุกคนช่วยกันเดินหน้าประเทศไทย โดยเน้นย้ำรวมไทยสร้างชาติ โดยขอให้ทุกคนรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันและร่วมกันฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจและโควิด รวมถึงฟันฝ่าเรื่องอื่นๆ ย้ำว่ารัฐบาลพร้อมรับฟัง แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อให้ประเทศเดินได้โดยหลักนิติธรรม

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขอบคุณภาพจาก สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตำรวจย้ำชุมนุมเกิน 5 คน ผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 22.30 น. วานนี้ (15 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงข่าว สรุปการชุมนุมในรอบค่ำ

พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุว่า เข้าวันที่ 3 ของการชุมนุมแล้ว ในเรื่องความคืบหน้าของการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ถูกจับกุมเมื่อเช้านั้น ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมาย ควบคุมตัวผู้ชุมนุม และแกนนำ จำนวน 22 ราย โดยการจับกุมนั้น 4 ราย เป็นการจับตามหมายจับ ซึ่งศาลจังหวัดธัญบุรี อนุมัติให้ฝากขัง 2 ราย ส่วนอีก 2 รายนั้น ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อนุมัติให้ฝากขังเช่นกัน

สำหรับผู้ชุมนุมอีก 18 คนนั้น เจ้าหน้าที่จับกุม เนื่องจากกระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งจะได้ทำการผัดฟ้องฝากขังในวันนี้ (16 ต.ค.)

ในส่วนของการชุมนุมในช่วงบ่าย ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการประกาศให้ยุติการชุมนุมในเวลา 22.00 น. ก็พบว่ามีการทยอยออกจากพื้นที่แล้ว ซึ่งคนที่มาชุมนุมในวันนี้ ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายแล้ว หลังจากที่มีการแจ้งให้ทราบถึงกฎหมาย ข้อบังคับ คำสั่ง และข้อห้ามต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าผู้ชุมนุมทราบแล้วว่ามีเรื่องใดทำได้ หรือไม่ได้ ซึ่งการดำเนินคดีนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน

สำหรับผู้ที่เดินทางมาชุมนุม มีคำถามว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน ในการรวบรวมพยานหลักฐาน จึงขอให้เดินทางออกจากพื้นที่

พล.ต.ต.ปิยะ ระบุว่า การดำเนินงานในวานนี้ (15 ต.ค.) ได้วางกำลังตำรวจทั้งหมด 15 กองร้อย บริเวณแยกราชประสงค์ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งวางกำลังตั้งแต่เช้าเพื่อรักษาพื้นที่จนถึงเวลานี้ ภาพรวมสามารถรักษาสถานการณ์ได้เรียบร้อยดี

ในรอบวานนี้ (15 ต.ค.) กองอำนวยการร่วมฯ มีข้อฝากถึงพี่น้องประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า การชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ถือว่าผิดกฎหมาย และจะต้องถูกดำเนินคดีทุกราย โดยมีทีมงานบันทึกภาพ และเสียง นอกจากนี้ ยังย้ำถึงข้อห้ามการนำรถบรรทุกต่างๆ ทั้งรถบรรทุกน้ำ อาหาร เครื่องขยายเสียง เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย และการมาร่วมชุมนุมอาจกระทบถึงตัวเองในอนาคตหากถูกดำเนินคดี

เมื่อถามถึงแกนนำที่ประกาศว่า จะมาชุมนุมที่ราชประสงค์ในวันนี้ (16 ต.ค.) และมาซ้ำๆ นั้น พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุว่า เราไม่ยอมให้มีการชุมนุม ซึ่งเมื่อมีการออกข้อกำหนด ที่ถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษ ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ทำได้ เรามีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว ตามอำนาจ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน แต่จะเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นยุทธวิธี ต้องดูความเหมาะสมด้วย ซึ่งเรามีวิธีอยู่แล้ว ในเรื่องการสกัดกั้น ก็คงเป็นมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ในวันนี้ (16 ต.ค. 2563) หลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา เพื่อให้ ครม. เห็นชอบ คำสั่ง ข้อกำหนด และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้ว ครม. ต้องเห็นชอบภายใน 3 วัน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และการตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ที่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่านายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ครม.จริง แต่อาจจะไม่เต็มทั้งคณะ ส่วนความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo