Politics

สรุปชัดๆ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มีข้อห้าม ข้อบังคับอย่างไร อ่านเลย!

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร คืออะไร มีข้อห้าม ข้อบังคับอย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจ – ทหารมีอำนาจหน้าที่อย่างไรในประกาศนี้ อ่านเลย!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า

โดยที่ปรากฏว่า มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และ ความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรง ต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

กรณีนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นายกรัฐมนตรี

จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป นั้น

iLaw สรุปสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ดังนี้

ข้อห้าม (เฉพาะพื้นที่กรุงเทพ)

  • ห้ามชุมนุมและมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
  • ห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือ บิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบความมั่นคงของรัฐ
  • ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือ ยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางที่กำหนด
  • ห้ามใช้ เข้าไป อยู่ใน หรือ ให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใดๆ ที่รัฐกำหนด

อำนาจที่ใช้จัดการ

  • อำนาจจับกุมและควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน (สูงสุด 30 วัน)
    – บุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวเพื่อให้ถ้อยคำ เอกสาร หรือ หลักฐาน
  • อำนาจยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร อาวุธ สินค้า หรือวัตถุอื่นใด
  • อำนาจตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง
  • อำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ

ผู้มีอำนาจสั่งการและผู้ปฏิบัติงาน

  • พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง
  • ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • ให้ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และ ข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ iLaw ยังระบุอีกว่า อำนาจแบบ “คสช.” รีเทิร์น! พล.อ.ประยุทธ์ ออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทำให้ นายกฯ มีอำนาจในการออกประกาศและข้อกำหนดซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอำนาจในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือยุคเผด็จการเต็มใบ ก็คือ ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน

หากให้ทบทวนการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวของ คสช. จะพบว่า อำนาจสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คน เป็นอำนาจที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางและเป็นการห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมในทุกกรณีแบบเบ็ดเสร็จ ไม่เว้นแม้แต่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งภายใต้อำนาจดังกล่าว คสช. ใช้เป็นข้อหาในการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างน้อย 421 คน

ส่วนอำนาจในการควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน จะมีความแตกต่างจากการใช้อำนาจในยุคคสช. คือ การจับกุมจะต้องขออำนาจศาลเพื่อดำเนินการจับกุมและควบคุมตัว และการควบคุมตัวดังกล่าวสามารถขยายเวลาได้สูงสุดไม่เกิน 30 วัน ส่วนสิ่งที่เหมือนกับยุคคสช. คือ สถานที่ควบคุมตัวที่ต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการกำหนดสถานที่ควบคุมตัว

อย่างไรก็ดี อำนาจในลักษณะดังกล่าวได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น การบังคับให้สูญหาย การซ้อมทรมาน หรือเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว

ขอบคุณเพจ iLaw

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo