Politics

แจงชัดทำไม ‘คนญี่ปุ่น’ ตรวจเจอเชื้อโควิดหลังกลับจากไทย

กรมควบคุมโรค แจงชัด! ทำไม “คนญี่ปุ่น” ตรวจเจอเชื้อโควิดหลังกลับจากประเทศไทย เหตุสนามบินญี่ปุ่นตรวจหาวิธีใหม่ ชี้ผลไม่แม่นยำ “WHO” ไม่รับรอง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานว่า พบผู้เดินทางออกจากประเทศไทย ไปประเทศญี่ปุ่น แล้วติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่สนามบินในญี่ปุ่นนั้นเป็นวิธีใหม่ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา คือ วิธีคัดกรองเบื้องต้นที่เรียกว่า CLEIA (Chemiluminescent enzyme immunoassay) โดยตรวจหาเชื้อจากตัวอย่าง “น้ำลาย” ของผู้เดินทาง

ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐาน ผลการตรวจวิธีดังกล่าว พบเชื้อโควิดในผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยจำนวนหนึ่ง และหลังจากได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว กรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR national focal point) ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสอบสวนโรค ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวทุกราย

กรมควบคุมโรค

จากการประสานงานและตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้น พบว่าตั้งแต่ 1 สิงหาคม ถึง 8 ตุลาคม 2563 มีผู้เดินทางไปจากประเทศไทย ตรวจน้ำลายพบผลบวก 15 ราย โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ตรวจพบวันที่ 1 สิงหาคม – 21 กันยายน 2563 จำนวน 8 ราย ดังนี้

  • รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 20 ปี
  • รายที่ 2 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 47 ปี
  • รายที่ 3 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 64 ปี
  • รายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 21 ปี
  • รายที่ 5 เป็นชายไทย อายุ 44 ปี
  • รายที่ 6 เป็นชายไทย อายุ 47 ปี
  • รายที่ 7 เป็นหญิงไทย อายุ 54 ปี
  • รายที่ 8 เป็นชายไทย อายุ 40 ปี

โดยทางโรงพยาบาลในญี่ปุ่น ได้ทำการตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพื่อหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-COV-2 พบว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของทั้ง 8 รายดังกล่าว ให้ผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด 19 แต่อย่างใด

สำหรับการสอบสวนโรคในประเทศไทย จากการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของทั้ง 8 ราย รวม 49 คน ผลการตรวจเป็นลบทั้งหมด ไม่พบเชื้อโควิด 19 เช่นกัน

ส่วนกลุ่มที่ 2 ตรวจพบวันที่ 30 กันยายน – 8 ตุลาคม 2563 เพิ่มอีก 7 ราย ดังนี้

  • รายที่ 9 เป็นเด็กหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 2 ปี 9 เดือน โดยผู้ป่วยรายดังกล่าว เดินทางออกจากประเทศไทยพร้อมมารดาและพี่ชาย ถึงประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 เก็บตัวอย่างน้ำลายส่งตรวจ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ ส่วนมารดาและพี่ชายผลตรวจน้ำลาย ให้ผลเป็นลบ
  • รายที่ 10 เป็นชายไทย อายุ 31 ปี ประวัติเบื้องต้นพบว่า ก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ได้ไปตรวจหาการติดเชื้อโรคโควิด 19 ที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งผลเป็นลบ และเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เก็บตัวอย่างน้ำลายส่งตรวจ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ
  • รายที่ 11 เป็นหญิงไทย อายุ 20 ปี เดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 เก็บตัวอย่างน้ำลายส่งตรวจ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ
  • รายที่ 12 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 56 ปี ประวัติเบื้องต้น เคยถูกคุมขังที่ห้องกักสวนพลู และห้องกักบางเขนในช่วงสองสัปดาห์ก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น

โดยทั้ง 4 รายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ในโรงพยาบาลของประเทศญี่ปุ่นต่อไป

สำหรับการสอบสวนโรคในประเทศไทย หลังจากได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมทุกรายแล้ว โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 145 ราย อยู่ในระหว่างการเก็บตัวอย่างและรอผลการตรวจ

  • รายที่ 13 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 60 ปี ได้รับการตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ผลไม่พบเชื้อ
  • รายที่ 14 และ รายที่ 15 เป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี และหญิงอายุ 63 ปี ตามลำดับ ทั้งสองรายอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและประสานงานเพื่อตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าว หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการตรวจที่สนามบินของญี่ปุ่นเป็นวิธีใหม่ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 โดยเป็นการตรวจโปรตีนของเชื้อไวรัสโควิดด้วยตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐาน ส่วนประเทศไทยการตรวจหาเชื้อโควิดจากโพรงจมูกด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อโควิด 19

ผลการสอบสวนผู้เดินทางจากประเทศไทย 8 รายแรก สรุปได้ว่า ไม่ใช่การติดเชื้อโควิด โดยพิจารณาจากผลตรวจ RT-PCR ที่ไม่พบเชื้อก่อนถูกปล่อยออกจากที่กักกัน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ปฏิบัติตามหลักในการป้องกันควบคุมโรค ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations :IHR) ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มีระบบความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ ทำให้มีการตรวจสอบติดตามและสอบสวนป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการดำเนินงานและควบคุมโรคภายในประเทศได้ดี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคที่มีความเข้มแข็งและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo