Politics

สื่อนอกเกาะติด ชุมนุมไทย ‘#19กันยาทวงอํานาจคืนราษฏร’

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ให้ความสนใจกับการ ชุมนุม 19 กันยา สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองของไทย พากันรายงานข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Thai protesters rally for big anti-government demonstration ระบุว่า ผู้ชุมนุมต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-ocha) ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารในปี 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนจะกลายเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการสนับสนุนจากกองทัพ

S 78209068

การ ชุมนุม 19 กันยา เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 19 กันยายน 2563 แม้จะมีสายฝนโปรยปรายแต่ก็เริ่มมีมวลชนรวมตัวกันบริเวณประตูรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และแม้ทางมหาวิทยาลัยจะประกาศล่วงหน้าแล้วว่า ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นสถานที่ชุมนุม แต่สุดท้ายผู้ชุมนุมก็เข้าไปภายในมหาวิทยาลัยได้

แกนนำผู้ชุมนุมคาดหวังว่า ครั้งนี้จะมีผู้มาเข้าร่วมมากกว่าช่วงกลางเดือน ส.ค. 2563 ที่เวลานั้นมีมวลชนถึง 1 หมื่นคน อาทิ พริษฐ์ “เพนกวิน” ชิวารักษ์ ตั้งเป้าไว้ที่ 1 แสนคน แต่ฝ่ายตำรวจคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 5 หมื่นคน

แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมไมได้มีแต่เพียงนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น ยังมาจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น Patricia Phakkhaphinya อายุ 35 ปี เดินทางมาจากสุราษฎร์ธานี ทางภาคใต้ของไทย กล่าวว่า รัฐบาลนี้โกงและประชาชนต้องช่วยกันขับไล่ อีกทั้งทุกอย่างพังทลาย และผู้คนไม่มีเงินแล้ว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศผ่านสื่อเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 กันยายน 2563 เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพก่อนการเมือง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ

รอยเตอร์ ระบุว่า  สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ผู้ชุมนุมบางส่วนต้องการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลอนุญาตให้ชุมนุมและปราศรัยได้โดยเสรี เว้นก็แต่เรื่องที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ที่ยอมรับไม่ได้

ชุมนุม 19 กันยา

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย เตือนผู้ชุมนุมว่าอย่าทำอะไรที่สุดโต่งหรือผิดกฎหมาย

ขณะที่เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์เดลี เมล ของอังกฤษ เสนอข่าว Thai protesters kick off weekend of rallies ระบุว่า การชุมนุมในประเทศไทยครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย บนเกาะฮ่องกงที่ไม่มีแกนนำชัดเจน

โดยหลังจากเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือการปักหลักชุมนุมข้ามคืนที่บริเวณท้องสนามหลวง ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 กันยายน 2563 ส่วนฝ่ายตำรวจคาดว่าจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ 1 หมืนนายในการดูแลสถานการณ์

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นสาเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปรียบในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง

ที่ผ่านมามีนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกจับกุมก่อนจะได้รับการประกันตัว อนึ่ง คาดว่าคนไทยที่อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา จะจัดกิจกรรมชุมนุมในช่วงเวลาเดียวกัน

ชุมนุม 19 กันยา

ส่วนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง เผยแพร่บทวิเคราะห์ Thai protests: fears of violence as students gather in Bangkok near royal grounds ระบุว่า การที่นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่นักเรียนระดับมัธยม ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ทำให้เกิดความกังวลว่า จะนำประเทศไทยกลับมาสู่วิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอันยาวนานตลอด 14 ปีที่ผ่านมา มีทั้งการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และการชุมนุมบนท้องถนนที่มีการบาดเจ็บล้มตาย

คู่ขัดแย้งเดิมในสังคมไทย คือ กลุ่มเสื้อแดงที่ศรัทธาใน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2549 กับฝ่ายเสื้อเหลืองที่ต่อต้านทักษิณ และประกาศตัวว่า เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนการชุมนุมในปัจจุบันของคนรุ่นใหม่ ได้ขยายประเด็นออกไปกว้างขวางทั้งรัฐธรรมนูญ กองทัพ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ

รายงานของสื่อฮ่องกง ยังกล่าวถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ค่อยรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 17 กันยายน 2563 กลับแถลงผ่านสื่อว่า จะปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมกับผู้ชุมนุมหากไม่ล้ำเส้น ซึ่งตนรับฟัง และเคารพในความคิดเห็นของผู้ชุมนุม แต่ถึงกระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังย้ำว่าไม่อยากให้มีการชุมนุมในเวลานี้ เพราะเป็นความเสี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด-19

ชุมนุม 19 กันยา

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง ยอมรับว่ากังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เนื่องจากหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ได้รับคำสั่งให้ปกป้องทรัพย์สินของรัฐบาล รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ว่าแกนนำจะวางแผนการชุมนุมไว้ดีเพียงใด แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็อาจเกิดได้ทุกเมื่อ

ส่วน พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ทำให้เกิดพื้นที่ที่ประชาชนในฐานะผู้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ได้มีโอกาสร่วมร่างกติกาที่ใช้ปกครองประเทศ

ด้านสำนักข่าว TRT World ของตุรกี เสนอข่าว Thai protesters come out in big numbers to demand reforms ตอนหนึ่งระบุว่า การชุมนุมของนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 หลังศาลตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมืองกับแกนนำพรรคเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมในหมู่คนอายุน้อย แต่การชุมนุมถูกระงับไปในเดือน มีนาคม 2563 เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo