Politics

ผู้ปกครองเฮ! สพฐ.มีมติยกเลิกสอบเข้าเรียนชั้นป.1

 บอร์ด กพฐ. มีมติ ห้ามโรงเรียนใช้วิธีสอบเข้าชั้น ป.1 แต่ให้สอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน ลดความเครียดเด็ก เตรียมเสนอ”รัฐมนตรีศึกษาธิการ” พิจารณา พร้อมกำหนดแผนการรับ นักเรียนปี 64  ม.1 และม.4 ไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ห้ามเพิ่มห้องเรียนเด็ดขาด ส่วนปี 65 จะเหลือเพียง 35 คนต่อห้อง

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน  เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ.  อาทิ การทดลองเปิดเรียน On-Site เต็มรูปแบบ แผนการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอก 2 รวมถึงการร่างคู่มือแนวทางการดำเนินงานในการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาพลเมืองคุณภาพ สำหรับสภานักเรียน และร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2564

เอกชัย 1

สพฐ.

ภายหลังการประชุม กพฐ. นายเอกชัย กล่าวว่าที่ประชุมได้หารือถึงร่างนโยบาย และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2564 ที่ประชุมมีมติให้การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.1 และ มัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ ม.4 ในปีการศึกษา 2564 จำกัดการรับนักเรียนจำนวนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ห้ามมีการขยายห้องเรียนอย่างเด็ดขาด

ส่วนการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส  นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน เป็นต้น ยังคงให้มีการรับแบบเงื่อนไขพิเศษตามเดิม

นายเอกชัย กล่าวว่านอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2565 จำกัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 35 คนต่อห้องด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ประชุมเห็น ว่าปัจจุบันนี้อัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง และอนาคตหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเปลี่ยนเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้นการจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้องโดยห้ามขยายห้องเรียนเพิ่ม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และครูได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง จะทำให้เด็กที่พลาดโอกาสจากโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงได้ไปอยู่โรงเรียนคู่ขนานที่มีศักยภาพเหมือนโรงเรียนดัง

สนิท แย้มเกษร

ส่วนการรับ นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ ป.1 ที่ประชุมมีมติ ห้ามใช้วิธีการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้นป.1 ในโรงเรียนสังกัดสพฐ.อย่างเด็ดขาด โดยจะให้ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน รวมถึงการจับฉลากเข้าเรียนของเด็ก ป.1 ต่อจากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองมาจับฉลากเข้าเรียนแทนบุตรหลาน

เนื่องจากแพทย์เด็กด้านจิตวิทยามองว่า  ทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการแข่งขันส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจของเด็ก  ที่ผ่านมายอมรับว่าการเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนบางแห่ง ยังมีการสอบแข่งขันเกิดขึ้นในหลักสูตรห้องเรียน English Progarm (EP) และ Intensive English Program (IEP) จนทำให้ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานของตัวเองไปกวดวิชา

อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะนำข้อสรุปจากที่ประชุมกพฐ.เสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา หากนโยบายดังกล่าวไม่มีการปรับเปลี่ยน สพฐ.จะนำไปจัดทำเป็นปฏิทินและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight