Politics

รู้จักกันมั้ย ‘กรกฎ 52’ แผนตำรวจ ปราบม็อบ 19 ก.ย.

ก่อนที่จะถึงการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ ในวันเสาร์นี้ (19 ก.ย.) “พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ประกาศว่า เตรียมแผน “กรกฎ 52” เป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 รับมือการชุมนุม 19 กันยายน 2563

แล้ว แผน กรกฎ 52 คืออะไร

“แผนกรกฎ 52” คือแผนปฏิบัติการหลัก แนวทางแก้ไขสถานการณ์วิกฤติ ใช้ในการรับมือการชุมนุม การก่อความไม่สงบ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำขึ้นในช่วงที่ประเทศเผชิญการชุมนุมจากม็อบสารพัดสี

กรกฎ 52

แผน กรกฎ 52 แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน 

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ

ก่อนเกิดเหตุ เช็กการข่าว  โดยหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการข่าว ประสานงาน กับหน่วยงานข่าวต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องทำ

  • ตั้งหน่วย หรือชุดเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนตามแผน
  • เตรียมกำลังหน่วยต่างๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติ หน่วยสนับสนุน
  • ซักซ้อมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ฝึกอบรมกำลังพล
  • จัดหาอุปกรณ์ เตรียมการด้านส่งกำลังบำรุง
  • เตรียมความพร้อมการเคลื่อนย้ายหน่วยกำลังพลเข้าปฏิบัติภารกิจและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
  • เตรียมสถานที่ควบคุม สถานที่สอบสวน กรณีมีการจับกุมและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก
  • ดำเนินการด้านชุมชน และมวลชนสัมพันธ์ ทุกรูปแบบให้เป็นธรรม และเตรียมปฏิบัติการด้านประชาสัมพันธ์ และจิตวิทยาต่อประชาชน หรือ ปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ ไอโอ
  • จัดทำแผนปฏิบัติการเฉพาะกรณีเฉพาะพื้นที่ในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ
  • เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ในพื้นที่ เพื่อควบคุมสั่งการแต่ละพื้นที่ แต่ละขั้นตอนไว้ให้ชัดเจน
  • มีสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.) ติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรมชัดเจน

ขั้นตอนที่ 2 การเผชิญเหตุ ในกรณีนี้คือการชุมนุม

  • ตำรวจท้องที่จัดส่งกำลังเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย หรือระงับเหตุ รักษากฎหมาย
  • จัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุ และบริเวณโดยรอบ ด้วยการแยกพื้นที่เกิดเหตุ ออกจากพื้นที่ทั่วไป
  • กันประชาชน(ที่ไม่เกี่ยวข้อง)ให้อยู่ห่าง ไม่ให้เข้าพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัย และสะดวกต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
  • รักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ
  • จัดการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้กระทบต่อสาธารณชนน้อยที่สุด
  • ใช้ศูนย์ปฏิบัติการ(ศปก.)ของกองบังคับการและกองบัญชาการ ในการติดตามควบคุมสั่งการ
  • รักษาความสงบ และแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน
  • ใช้การเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการ โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
  • เร่งสืบสวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ชื่อสกุล ข้อมูลแกนนำ ผู้ปฏิบัติการต่างๆ
  • รวมทั้งจัดเก็บภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการดำเนินคดีอาญา
  • ประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อเท็จจริงของสถานการณ์ และการกระทำว่าผิดตามกฎหมายใด มีอัตราโทษอย่างไร
  • กรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที หรือเป็นการละเมิด เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชน สังคม ให้ใช้มาตรการตามกฎหมายโดยร้องขอต่อศาล ให้ผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้มารวมตัว ยุติการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
กรกฎ 52
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อสถานการณ์วิกฤติ และจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ 

  • เมื่อการเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล

สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และของทางราชการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ และรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ ผ่าน ศปก.ตร.ทันที

  • กรณีความไม่สงบจากการชุมนุมเรียกร้อง

เมื่อเกิดการละเมิดกฎหมาย และอาจนำไปสู่ความรุนแรง นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ประสานปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ได้รับมอบหมาย ก่อนสั่งใช้กำลัง เพื่อเข้ายับยั้ง หรือคลี่คลายสถานการณ์

  • กรณีการชุมนุมเรียกร้องหากมีการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน

ผลการกระทำอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือผู้กระทำผิดอาจหลบหนีไปก่อน ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับบัญชาทราบ

  • กรณีต้องยับยั้งวิกฤติ ควบคุมสถานการณ์ชุมนุม ดำเนินการตาม “กฎการใช้กำลัง”

การใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ ดำเนินการ ตามลำดับ ดังนี้

  1. แสดงกำลังของตำรวจ
  2. ใช้คำสั่งเตือน
  3. ใช้มือเปล่าจับกุม
  4. ใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ
  5. ใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย
  6. ใช้คลื่นเสียง
  7. ใช้น้ำฉีด
  8. อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย
  9. กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี
  10. อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า
กรกฎ 52
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน

หากยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ให้เสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่าน ศปก.ตร.เพื่อเสนอรัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวเข้ารับผิดชอบ

หรือพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เฉพาะพื้นที่ เพื่อเพิ่มอำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หรือประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามขั้นเด็ดขาด ซึ่งการปฏิบัติการขั้นนี้ฝ่ายทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ

ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟู

เมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติ ให้ดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด จัดหน่วยทำหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนส่วนราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟู บูรณะทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อได้รับการร้องขอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo