Politics

คลังโร่แจงข่าวลือ! ยันเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ แค่เลื่อนจ่าย ไม่ได้งด

เงินผู้สูงอายุเดือนกันยายน 2563 “กระทรวงการคลัง” ยันจ่ายภายในเดือนนี้แน่นอน ลั่นไม่ได้งดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่าย เนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็น เงินผู้สูงอายุเดือนกันยายน 2563 เบี้ยความพิการ และเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง รวมทั้งประเด็นปัญหาหนี้เสีย (Non-Performing Loans: NPLs) ของสถาบันการเงินดังนี้

ประเด็นการงดจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ เบี้ยความพิการ เดือนกันยายน 2563 และกระทรวงการคลังจะสามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างได้อีกเพียง 3 เดือนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ เบี้ยความพิการ ไม่ได้มีการงดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่าย เนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณ ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในเดือนกันยายน

เงินผู้สูงอายุเดือนกันยายน 2563

ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการจ่ายเงินดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563 โดยขณะนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อมาจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว และกรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ต่อไปโดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้

สำหรับกรณีเงินเดือนข้าราชการนั้น รัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอแล้ว ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี และขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

ทั้งนี้ เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เพียงพอเพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณ ของหน่วยงานภาครัฐซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงมีรายได้ จากการจัดเก็บภาษีอากร หรือรายได้อื่นๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศได้ตามปกติ และ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้ยืนยัน ว่า กระทรวงการคลังยังมีแหล่งเงินที่เพียงพอ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐและดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึง ประเด็นปัญหา NPLs ของสถาบันการเงินว่า รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว และได้ดำเนินการโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา NPLs ของผู้ประกอบการและประชาชนโดยเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Preemptive Debt Restructuring) และรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา NPLs

โดยกลไกดังกล่าว จะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ อันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดระยะเวลาสัญญา จะไม่เพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายต่องวดลดลง ซึ่งแตกต่างจากการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ที่ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้ ในช่วงที่มีการพักชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดสัญญาสูงขึ้น

ทั้งนี้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และรวมหนี้มีรายละเอียดดังนี้

1. โครงการ DR BIZ กำหนดให้มีกลไกบรรเทา และ จัดการหนี้ธุรกิจของลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (Multi-Creditors) ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้ ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อันจะเป็นการรักษาการจ้างงานและส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ

2. โครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) กำหนดแนวทางให้ลูกหนี้รายย่อย สามารถรวมหนี้ประเภทต่างๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับและสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ เป็นต้น มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระหนี้ลดลง

โดยการลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ ทำให้ลูกหนี้มีภาระในการผ่อนชำระหนี้ลดลง นอกจากนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หรือ การปรับโครงสร้างหนี้ จะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยไม่ทำให้ลูกหนี้เสียประวัติข้อมูลเครดิต รวมทั้งยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิต หรือ สินเชื่อส่วนบุคคลที่เหลือได้

กระทรวงการคลัง คาดว่า ธนาคารพาณิชย์ และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างดี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ โครงการดังกล่าว จะช่วยรักษาความสามารถในการชำระหนี้ ของลูกหนี้ และ ป้องกันปัญหาNPLs ในระบบสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น และมีแผนที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

สำหรับประเด็นการกันสำรองของสถาบันการเงิน กรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ ที่มีสถานะเป็น NPLs นั้น ในทางปฏิบัติ เมื่อสถาบันการเงิน มีการกันสำรองเมื่อลูกหนี้เป็น NPLs สถาบันการเงินจะเป็นผู้เก็บเงินไว้เอง โดยไม่ต้องส่งให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อย่างใด โดยการกันสำรองของสถาบันการเงิน เป็นการดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้น หากไม่สามารถติดตามหนี้ได้ ซึ่งเป็นกลไกบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาฐานะทางการเงินและกระทบต่อเงินฝากของประชาชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo