Politics

กกต.เร่งคลอดระเบียบรับ 2 ก.ม. เลือกตั้ง

n20180913 4227jj

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  กล่าวว่าหลังจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทางกกต.จะเร่งพิจารณาระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยจะเร่งระเบียบกกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า

โดยขั้นตอนต่อไป กกต.ก็จะประกาศให้มีการลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้าคัดเลือกเป็น ส.ว. ซึ่งจะมี 2 ประเภท 1. องค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง และ 2. องค์กรนิติบุคคล ที่ก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 3 ปีมีการดำเนินกิจการต่อเนื่องและไม่แสวงหาผลกำไร

โดยจะเปิดรับลงทะเบียนที่สำนักงานกกต.จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนบุคคลทั่วไปที่จะลงสมัคร สามารถยื่นสมัครได้ที่ว่าการอำเภอ โดยวันเวลาของการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนทางกกต. จะมีการชี้แจงอีกครั้งหลังระเบียบกกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกาศใช้

ส่วนการคัดเลือกส.ว.ในส่วนของกกต.จะดำเนินการคัดเลือกให้ได้ส.ว. จำนวน 200 คน และส่งให้คสช. ภายใน 15 วันก่อนวันเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อและสำรองอีก 50 ชื่อ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์  กล่าวถึงการเตรียมการเลือกตั้งส.ส. ว่าขณะนี้ยังอยู่ในช่วง 90 วันของการรอการบังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยจะครบกำหนดในวันที่ 10 ธันวาคม 2561  และนับตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็จะเข้าสู่ระยะเวลาต้องการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน โดยวันสุดท้ายคือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เมื่อมีการคลายล็อคคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ทางกกต.จะใช้เวลา 90 วัน เร่งแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชน ประมาณ 10 วัน คาดจะใช้เวลาทั้งหมด 55-60 วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อแล้วเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองสามารถทำได้จนถึงวันก่อนรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเวลามากกว่า 30 วัน น่าจะเพียงพอที่พรรคทำไพรมารีโหวต

ส่วนการหาสมาชิกพรรคของพรรคการเมือง หลังคลายล็อคจะสามารถใช้วิธีการขึ้นป้ายเชิญชวน หรือขึ้นเวทีพูดเชิญชวนได้หรือไม่  เรื่องนี้  ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป และต้องรอคำสั่งคลายล็อคของคสช.ที่จะออกมาก่อน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight