Politics

‘เพื่อไทย’ กลับลำ ลงมติยื่นเพิ่ม แก้ ‘ม.272 -ยกเลิกบทเฉพาะกาล 279’

เพื่อไทย กลับลำ เกาะกระแสปิดสวิตช์ ส.ว. ยื่นแก้ ม.272  ยกเลิกบทเฉพาะกาล 279 พร้อมเร่งผลักดันตั้ง ส.ส.ร. ขอเสียงจากทุกฝ่ายให้ครบ 250 เสียง เปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญ แก้รัฐธรรมนูญ 

วันนี้ (8 ก.ย.) พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ส.ส. และ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย

เพื่อไทย

นายสมพงษ์ แถลงผลการประชุมในเรื่องประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ตามที่พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 4 พรรคได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ไปแล้วนั้น ต่อมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้เสนอผลการศึกษาต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และจะมีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 10 กันยายน 2563

เมื่อวันที่ 1 กันยายน พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากประชาชน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อแล้วเสร็จให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องให้ตัดอำนาจของวุฒิสภาในหลายประเด็น โดยเฉพาะในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นทั้งในคณะกรรมาธิการ และในทางสาธารณะตลอดมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกติกา ที่มีแต่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศ และประชาชน รัฐบาล นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ล้วนตอบสนองต่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ  จึงเห็นว่า สสร. เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในทางสันติวิธี จึงเร่งผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าว วันที่ 23-24 กันยายน 2563 ในวาระที่ 1

เพื่อไทย

เพื่อเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ พรรคจึงขอเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมลงชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งต้องการเสียงประมาณ 250 คน เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 25 กันยายน 2563 และจะเปิดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563

พรรคได้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น พร้อมกับประเด็น ส.ส.ร.โดยเฉพาะในส่วนของบทเฉพาะกาล ได้แก่

  • ยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272

พรรคเสนอเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย และได้เสนอร่างนี้เช่นเดียวกับร่างแก้ไข ม.256 ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ

  • ยกเลิกอำนาจของวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบ หรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับ แก้ไขเพิ่มเติมโทษ หรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น มีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร

  • ยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล

ที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ

  • แก้ไขระบบเลือกตั้ง

ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83 , 85 , 90 , 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญพ.ศ 2540 คือใช้บัตร 2 ใบ (เลือกคน และเลือกพรรค)

เพื่อไทย

ญัตติที่เสนอทั้งหมดข้างต้น สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นชอบ และอยากเชิญพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดันด้วยการร่วมเสนอญัตติ และพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างสันติ พรรคจะเสนอญัตติที่กล่าวมาโดยเร็วที่สุดซึ่งคาดว่าจะดำเนินการ ได้ภายในวันพุธที่ 9 กันยายน 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย มีมติให้แก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และยังมีมติ 99.99% ไม่ร่วมลงชื่อพรรคก้าวไกล ในการยื่นแก้มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.

ในครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า เป็นการผิดหลักการของพรรค ที่ประกาศแต่แรกว่าจะแก้มาตรา 256 ที่จะให้ประชาชนมาร่วมเขียน โดยไม่ตัดสินใจหรือเขียนแทนประชาชน แม้ว่าจะเห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. แต่วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ควรให้ ส.ส.ร.ดำเนินการไปให้เต็มที่ แต่หากการดำเนินการตามช่องทางดังกล่าวไม่สัมฤทธิ์ผล ก็ไม่ได้ปิดทางที่จะมาดำเนินการตามมาตรา 272 ร่วมกันในอนาคต

เพื่อไทย

ท่าทีดังกล่าวของพรรค เพื่อไทย  ถูกโจมตีจากกลุ่มชุมนุมทางการเมือง และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ “ผิดพลาดอย่างร้ายแรง” ของพรรคเพื่อไทย

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายด้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่ออกมา ระบุว่า จากกระแสสังคม รวมทั้งกระแสของพรรคการเมือง ที่เสนอให้แก้ไข มาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และล่าสุด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาร่วมเสนอร่างแก่ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ด้วยนั้น

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่ขัดข้อง หากกระแสสังคมต้องการให้มีการแก้ไขในมาตราดังกล่าว โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมประชุมส.ส.ในวันที่ 8 กันยายนนี้ เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน พร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ เพราะการเมืองเปลี่ยนได้ทุกสัปดาห์ เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ก็พร้อมหารือเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีมติยื่นแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo