Politics

เปิดแอพ ‘School Bus’ ป้องกันลืมเด็กบนรถโรงเรียน

S 67305536

กรมการขนส่งฯ จับมือ 4 หน่วยงาน ยกระดับความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน 1.2 แสนคันทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวแอพ  ‘School Bus’ ช่วยผู้ปกครองติดตามความเคลื่อนไหวรถโรงเรียน ป้องกันลืมเด็กบนรถโรงเรียน

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (13 ก.ย.) กรมการขนส่งฯ, กระทรวงศึกษาธิการ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และบริษัทแท็กซี่-บีม จำกัด  ลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในรถรับส่งนักเรียน” เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในรถรับส่งนักเรียน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน โดยเฉพาะการใช้แอพพลิเคชัน School Bus และระบบติดตาม (GPS) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบตำแหน่งและสถานะของรถรับ-ส่งนักเรียน รวมทั้งตรวจสอบการขึ้น-ลงรถของเด็กนักเรียน เพื่อป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้บนรถ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลการเดินรถเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของกรมการขนส่งฯ และศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ

“ผู้ปกครอง โรงเรียน และกรมการขนส่งฯ สามารถติดตามรถนักเรียนได้จากแอพพลิเคชันนี้ไปพร้อมๆ กัน เช่น การตรวจสอบตำแหน่ง เลขทะเบียน ความเร็วรถ ถ้าคนขับใช้ความเร็วเกินกำหนด หรืออาจจะมากกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง กรมขนส่งฯ ก็จะแจ้งเตือนให้ลดความเร็วลงได้ทันที จากนั้นก็จะเรียกตัวมาอบรมการขับขี่อย่างปลอดภัยด้วย” นายสนิทกล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการบริหารจัดการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน ด้วยการสร้างระบบเครือข่าย โดยมีโรงเรียนเป็นจุดจัดการ โดยมีพื้นที่ จ.จันทบุรี เป็นต้นแบบ ภายใต้โครงการ “จันทบุรีโมเดล” ซึ่งมีเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ โรงเรียน, คนขับรถรับส่งนักเรียน, นักเรียนและผู้ปกครอง และสำนักงานขนส่งและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความปลอดภัย

ด้านตัวรถทุกประเภทที่นำมาใช้รับส่งนักเรียนต้องมีความปลอดภัยและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม  คนขับรถต้องมีความพร้อมในด้านของความรู้ ทักษะ และผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติจากเครือข่ายรถรับส่งนักเรียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการติดตามตัวนักเรียนและรถรับ-ส่งนักเรียน ผ่านแอพพลิเคชั่น

นอกจากนี้ รถรับส่งนักเรียนทุกคันต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนประจำรถตลอดเวลาที่รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัย ห้ามนักเรียนยืน กำชับการคาดเข็มขัดนิรภัย และสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุเพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง

นายสนิท กล่าวว่าอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของพนักงานขับรถและผู้ควบคุมดูแลประจำรถ ประกอบกับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยทั้งในด้านผู้ขับรถ สภาพรถ และลักษณะรถ ตลอดจนพฤติกรรมการให้บริการซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงเรียนอยู่ 31,000 แห่ง ส่วนรถรับ-ส่งนักเรียนไม่มีการเก็บตัวเลขที่ชัดเจน โดยมีการประเมินจำนวนรถรับ-ส่งนักเรียนตั้งแต่ 70,000-120,000 คัน แต่มีเพียง 10,000 คันเท่านั้น ที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งฯ จึงต้องใช้กระบวนการทางสังคม เช่น เครือข่ายโรงเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงการใช้แอพฯ และระบบจีพีเอส มาช่วยกันกำกับดูแลด้วยความปลอดภัยด้วย

Avatar photo