Politics

สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังรุนแรง! ย้ำกักตัว 14 วันต้องเคร่งครัดเข้มข้น

สถานการณ์โควิดทั่วโลก ยังรุนแรง! “หมอธีระ” เผยยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดอยู่ที่ 26,440,861 คน เพิ่มขึ้น 292,757 คน ย้ำมาตรการกักตัว 14 วันต้องเคร่งครัดเข้มข้น ไม่มีอภิสิทธิ์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน สถานการณ์โควิดทั่วโลก โดยระบุว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลก ล่าสุด 4 กันยายน 2563 รุนแรงต่อเนื่อง ติดเพิ่มอีกถึง 292,757 คน ตายเพิ่ม 6,181 คน รวมแล้ว 26,440,861 คน

  • อเมริกา ติดเพิ่ม 35,687 คน รวม 6,331,397 คน ตายเพิ่มเกินพัน
  • บราซิล ทะลุสี่ล้านไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานตอนสายๆ ติดเพิ่ม 43,773 คน รวม 4,041,638 คน
  • อินเดีย ทำลายสถิติโลกเรื่องจำนวนการติดเชื้อต่อวันอีกครั้ง โดยติดเพิ่มถึง 84,156 คน รวม 3,933,124 คน ตายเกินพันเช่นกัน พรุ่งนี้อินเดียจะทะลุสี่ล้าน

สถานการณ์โควิดทั่วโลก

  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,995 คน รวม 1,009,995 คน
  • เปรู แอฟริกาใต้ เม็กซิโก ติดกันเพิ่มราว 6,300 2,500 4,900 ตามลำดับ
  • สเปนติดเชื้อเพิ่มถึง 8,959 คน ฝรั่งเศส 7,157 คน ในขณะที่สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมัน อินโดนีเซีย อิหร่าน ฟิลิปปินส์ ล้วนแล้วแต่ติดกันหลักพันถึงหลายพันเช่นกัน
  • หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และเมียนมาร์ ติดกันหลักร้อยถึงเฉียดพัน
  • ส่วนจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ติดกันหลักสิบ นิวซีแลนด์และฮ่องกงก็ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…เคยเล่าให้ฟังตั้งแต่ช่วงก่อนปลดล็อคระยะที่ 5 ช่วงต้นกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ไม่มีประเทศใดที่จะรอดพ้นการติดเชื้อในประเทศไปได้ หากมีการเปิดประตูรับให้คนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

…ทั้งนี้สถิติโดยเฉลี่ยแล้ว จะพบการติดเชื้อในประเทศหลังจากการเปิดประตู 4 – 6 สัปดาห์ …เคสล่าสุดของไทยเรานั้น หากไล่เรียงไทม์ไลน์ จะพบว่าก็อยู่ประมาณช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

นั่นคือ อาจมีการสัมผัสรับเชื้อมาจากใครคนใดคนหนึ่งโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่สองหรือสัปดาห์ที่สามของสิงหาคม และมีระยะฟักตัว ก่อนจะมีอาการไอมีเสมหะ ตอนช่วงถูกคุมในเรือนจำตอนปลายเดือน

…ย้ำอีกครั้ง ระบบคัดกรอง กักตัว และติดตามนั้น จำเป็นต้องเคร่งครัดเข้มข้น 14 วันทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีอภิสิทธิ์

…การชงนโยบาย หรือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หาเงิน แบบกิเลสครอบงำ ฉันจะเชิญคนโน้นคนนี้คนนั้นมาจัดงานในประเทศ แล้วจะไม่กัก 14 วัน จะให้ลงนามสัญญาว่า จะเป็นเด็กดีทำตามกฎระเบียบอย่างโน้นอย่างนี้ จะมีคนคอยติดตาม… ต่อให้พล่ามมามากกว่านี้ ก็เชื่อขนมกินได้ว่า มีโอกาสที่จะพบว่า “กฎมีไว้แหก” และความหายนะจะเกิดแก่คนอื่นในสังคม โดยพวกชงนโยบาย ก็เปิดตูดหนีไป ไม่รับผิดชอบ หรือ ไม่มีปัญญาจะรับผิดชอบ

…การชงนโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยว โมเดลเกาะสวรรค์ จังหวัดร่ำรวย ก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้สถานการณ์ระบาดย่ำแย่ทั่วโลก เคสล่าสุด ก็ตอกย้ำสัจธรรมที่เตือนไว้ล่วงหน้าแล้ว หากเปิดโมเดลตามที่คุยโม้ จะเละเทะกันจนเราอาจไม่มีกำลังทรัพยากรไปกอบกู้คืนมาเหมือนระลอกแรก

…ประเทศเราตอนนี้ต้องการฝ่ายนโยบายที่ไม่ใช่แบบเดิม รัฐบาลควรเปลี่ยนวงอำนาจสุขภาพท่องเที่ยวเดินทาง ไม่ให้มีการกุมอำนาจอยู่ในวงเดียวกัน เพราะจะส่งผลกระทบต่อการวางนโยบาย ที่มีผลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ… เรื่องนี้คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ขอให้พวกเราทุกคนรักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวอยู่เสมอ

ตอนนี้ความเสี่ยงมาในประเทศเรียบร้อยแล้ว และจะเข้ามาได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ

ใส่หน้ากากเสมอ…ล้างมือบ่อยๆ…อยู๋ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร

พูดน้อยลง…พบปะคนน้อยลงสั้นลง…เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว

หากมีไข้ ไอ มีเสมหะ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย… ให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจครับ

“หมอธีระ” ระบุก่อนหน้านี้ว่า  …สถิติรายงานไม่มีเคสติดเชื้อในประเทศ ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใด ก็ไม่มีความหมาย มิได้สลักสำคัญ เพราะเป้าหมายที่ประชาชนไทยเรา และรัฐ ควรตั้งไว้คือ การป้องกันไม่ให้มีการระบาดซ้ำระลอกสอง…

ระบาดซ้ำระลอกสองนั้น ประเทศอื่นทั่วโลกล้วนเกิดขึ้นจากเพียงสองสาเหตุหลัก

หนึ่ง “นำเข้ามาจากภายนอก” ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มเป้าหมายใดๆ ก็ตามที่เดินทางจากนอกประเทศเข้ามาสู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว นักธุรกิจนักลงทุน ผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตาม หรืออื่นๆ

หมอธีระ

สอง “มีการติดเชื้ออยู่แล้วในชุมชน ในประเทศ แต่ไม่ได้ตรวจอย่างครอบคลุมครบถ้วนสม่ำเสมอ”

ทุกประเทศที่กำลังลำบากกับการระบาดระลอกสองนั้น ดูแล้วล้วนมาจากเรื่องการผ่อนปรนนโยบาย ปลดล็อคการใช้ชีวิต ประชาชนการ์ดตก และการผลักดันนโยบายมุ่งหาเงินมากอบกู้เศรษฐกิจ

หลายคนพยายามถามผมในวันนี้ ด้วยคำถามเดียวกันว่า ตอนนี้คนได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากิน เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดลเกาะสวรรค์จังหวัดร่ำรวย ตามที่นักการเมืองและกลุ่มธุรกิจการเมืองโฆษณาได้ไหม?

ผมตอบตรงๆ ดังนี้

“…หมอทุกคนล้วนเข้าใจดีถึงความทุกข์ยากลำบาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด แต่สถานการณ์ระบาดทั่วโลกตอนนี้รุนแรงมากกว่า 2 เดือนก่อนถึง 3 เท่า รุนแรงมากกว่า 6 เดือนก่อนถึง 9 เท่า…

…ทุกประเทศที่เปิดให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศ นำคนเข้ามา ล้วนเกิดระบาดซ้ำทั้งสิ้น และการระบาดระลอกสองนั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เกิดทันทีทันใด กระจายตัวเร็ว หาต้นตอได้ยาก คุมได้ยากกว่าระลอกแรก และเกิดผลกระทบวงกว้างและยาวนาน เฉลี่ยแล้วระลอกสองใช้เวลาในการจัดการราวสองเท่า…

…ดังนั้น ตอนนี้ จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ในการเปิดให้เกิดการท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะฟองสบู่ หรือ โมเดลเกาะสวรรค์ จังหวัดร่ำรวย ก็ตามแต่ หากเปิด ก็จะมีโอกาสเกิดหายนะระบาดซ้ำตามมาในเวลาอันรวดเร็ว และเราอาจไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะกอบกู้สถานการณ์คืนมาได้เหมือนรอบแรก…

…เวลานี้ควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประคับประคองประเทศไปก่อน ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ คาดว่า จะใช้เวลารอสถานการณ์ให้ดีขึ้นราว 6 เดือน ตามธรรมชาติของโรคระบาดที่เห็นมาในอดีต ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศ กำลังพยายามคุมโรคกันอยู่ และอาจได้เครื่องมือมาช่วยเพิ่มเติม เช่น ยา หรือวัคซีน ไม่มากก็น้อย…

…ระหว่างช่วง 6 เดือนนี้ สิ่งที่รัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น การท่องเที่ยวและงานบริการ ควรทำคือ

1. ปฏิรูประบบธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยใหม่ ไม่ใช้ระบบและกลไกแบบในอดีต ออกแบบบริการที่มุ่งเน้นคุณค่าและมูลค่า แต่ไม่เน้นจำนวน ปรับรูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้ปลอดภัยทั้งต่อลูกค้า ต่อผู้ให้บริการ และต่อคนในประเทศ ลดโอกาสสัมผัสหรือติดต่อกันโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อรองรับกับปํญหาโรคระบาดปัจจุบัน และในอนาคต

ลักษณะระบบธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่พึงประสงค์คือ “Regulated tourism” หรือ “All inclusive managed system” มิใช่การโปรโมท ให้เกิดการท่องเที่ยวอิสระเช่นเดิม

โมเดลเกาะสวรรค์จังหวัดร่ำรวยที่นำเสนอมากันโครมๆ นั้น มีช่องโหว่อยู่มากที่จะทำให้เกิดการระบาดซ้ำในชุมชน และกระจายไปจังหวัดอื่นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับการทบทวน ปรับปรุง และ รอเวลาไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดอีกครั้ง ก่อนจะนำมาพิจารณา

2. พัฒนากำลังคนภายในประเทศ ที่เคยคุ้นชินกับระบบเก่า ให้มีทักษะและความรู้ใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ ยากต่อการลอกเลียนแบบ และ สามารถช่วยให้ยังคงอยู่กับตัว เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพได้หากระบบใหญ่ได้รับผลกระทบ จากวิกฤติที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

ทั้งสองเรื่องนี้ ต้องใช้ปัญญาในการวางแผนร่วมกัน ไม่ยึดติดกับอดีต และ ควรยอมรับสัจธรรมว่า ทั่วโลกล้วนประสบปัญหาเดียวกัน  ระบบเก่าไม่มีทางอยู่รอดได้ หากทำตามเดิม จะระบาดซ้ำซาก จนหมดแรงจะแก้ไขกอบกู้ในที่สุด

เย็นวันนี้ เราคงทราบข่าวแล้วว่า เชื้อไวรัสไม่ได้หายไปจากสังคมไทย เคสล่าสุดนี้ เกิดในเมืองกรุง คนแออัดมากมาย และมีโอกาสที่จะไม่สามารถติดตามหาต้นตอได้

การติดเชื้อในประเทศครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนพวกเราทุกคน ให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ความเสี่ยงนี้มาถึงในบ้านแล้ว หากการ์ดเราสูงกันทุกคน ก็จะไม่ระบาดได้

 

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK