Politics

ยกการ์ดให้สูง!! ‘หมอธีระ’ เตือนความเสี่ยง ‘โควิด’ มาถึงในบ้านแล้ว

หมอธีระ ลั่น “โควิด” ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย ชี้เป็นสัญญาณเตือน ความเสี่ยงมาถึงในบ้านแล้ว ระวังสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงกว่าเดิมถึง 9 เท่า ยกการ์ดให้สูง!!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดย หมอธีระ ระบุว่า …สถิติรายงานไม่มีเคสติดเชื้อในประเทศ ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใด ก็ไม่มีความหมาย มิได้สลักสำคัญ เพราะเป้าหมายที่ประชาชนไทยเรา และรัฐ ควรตั้งไว้คือ การป้องกันไม่ให้มีการระบาดซ้ำระลอกสอง…

ระบาดซ้ำระลอกสองนั้น ประเทศอื่นทั่วโลกล้วนเกิดขึ้นจากเพียงสองสาเหตุหลัก

หนึ่ง “นำเข้ามาจากภายนอก” ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มเป้าหมายใดๆ ก็ตามที่เดินทางจากนอกประเทศเข้ามาสู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว นักธุรกิจนักลงทุน ผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตาม หรืออื่นๆ

หมอธีระ

สอง “มีการติดเชื้ออยู่แล้วในชุมชน ในประเทศ แต่ไม่ได้ตรวจอย่างครอบคลุมครบถ้วนสม่ำเสมอ”

ทุกประเทศที่กำลังลำบากกับการระบาดระลอกสองนั้น ดูแล้วล้วนมาจากเรื่องการผ่อนปรนนโยบาย ปลดล็อคการใช้ชีวิต ประชาชนการ์ดตก และการผลักดันนโยบายมุ่งหาเงินมากอบกู้เศรษฐกิจ

หลายคนพยายามถามผมในวันนี้ ด้วยคำถามเดียวกันว่า ตอนนี้คนได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากิน เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดลเกาะสวรรค์จังหวัดร่ำรวย ตามที่นักการเมืองและกลุ่มธุรกิจการเมืองโฆษณาได้ไหม?

ผมตอบตรงๆ ดังนี้

“…หมอทุกคนล้วนเข้าใจดีถึงความทุกข์ยากลำบาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด แต่สถานการณ์ระบาดทั่วโลกตอนนี้รุนแรงมากกว่า 2 เดือนก่อนถึง 3 เท่า รุนแรงมากกว่า 6 เดือนก่อนถึง 9 เท่า…

…ทุกประเทศที่เปิดให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศ นำคนเข้ามา ล้วนเกิดระบาดซ้ำทั้งสิ้น และการระบาดระลอกสองนั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เกิดทันทีทันใด กระจายตัวเร็ว หาต้นตอได้ยาก คุมได้ยากกว่าระลอกแรก และเกิดผลกระทบวงกว้างและยาวนาน เฉลี่ยแล้วระลอกสองใช้เวลาในการจัดการราวสองเท่า…

…ดังนั้น ตอนนี้ จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ในการเปิดให้เกิดการท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะฟองสบู่ หรือ โมเดลเกาะสวรรค์ จังหวัดร่ำรวย ก็ตามแต่ หากเปิด ก็จะมีโอกาสเกิดหายนะระบาดซ้ำตามมาในเวลาอันรวดเร็ว และเราอาจไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะกอบกู้สถานการณ์คืนมาได้เหมือนรอบแรก…

…เวลานี้ควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประคับประคองประเทศไปก่อน ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ คาดว่า จะใช้เวลารอสถานการณ์ให้ดีขึ้นราว 6 เดือน ตามธรรมชาติของโรคระบาดที่เห็นมาในอดีต ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศ กำลังพยายามคุมโรคกันอยู่ และอาจได้เครื่องมือมาช่วยเพิ่มเติม เช่น ยา หรือวัคซีน ไม่มากก็น้อย…

…ระหว่างช่วง 6 เดือนนี้ สิ่งที่รัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น การท่องเที่ยวและงานบริการ ควรทำคือ

1. ฏิรูประบบธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยใหม่ ไม่ใช้ระบบและกลไกแบบในอดีต ออกแบบบริการที่มุ่งเน้นคุณค่าและมูลค่า แต่ไม่เน้นจำนวน ปรับรูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้ปลอดภัยทั้งต่อลูกค้า ต่อผู้ให้บริการ และต่อคนในประเทศ ลดโอกาสสัมผัสหรือติดต่อกันโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อรองรับกับปํญหาโรคระบาดปัจจุบัน และในอนาคต

ลักษณะระบบธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่พึงประสงค์คือ “Regulated tourism” หรือ “All inclusive managed system” มิใช่การโปรโมท ให้เกิดการท่องเที่ยวอิสระเช่นเดิม

โมเดลเกาะสวรรค์จังหวัดร่ำรวยที่นำเสนอมากันโครมๆ นั้น มีช่องโหว่อยู่มากที่จะทำให้เกิดการระบาดซ้ำในชุมชน และกระจายไปจังหวัดอื่นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับการทบทวน ปรับปรุง และ รอเวลาไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดอีกครั้ง ก่อนจะนำมาพิจารณา

2. พัฒนากำลังคนภายในประเทศ ที่เคยคุ้นชินกับระบบเก่า ให้มีทักษะและความรู้ใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ ยากต่อการลอกเลียนแบบ และ สามารถช่วยให้ยังคงอยู่กับตัว เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพได้หากระบบใหญ่ได้รับผลกระทบ จากวิกฤติที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

ทั้งสองเรื่องนี้ ต้องใช้ปัญญาในการวางแผนร่วมกัน ไม่ยึดติดกับอดีต และ ควรยอมรับสัจธรรมว่า ทั่วโลกล้วนประสบปัญหาเดียวกัน  ระบบเก่าไม่มีทางอยู่รอดได้ หากทำตามเดิม จะระบาดซ้ำซาก จนหมดแรงจะแก้ไขกอบกู้ในที่สุด

เย็นวันนี้ เราคงทราบข่าวแล้วว่า เชื้อไวรัสไม่ได้หายไปจากสังคมไทย เคสล่าสุดนี้ เกิดในเมืองกรุง คนแออัดมากมาย และมีโอกาสที่จะไม่สามารถติดตามหาต้นตอได้

การติดเชื้อในประเทศครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนพวกเราทุกคน ให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ความเสี่ยงนี้มาถึงในบ้านแล้ว หากการ์ดเราสูงกันทุกคน ก็จะไม่ระบาดได้

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ
ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน…

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK