Politics

วอนอย่าบิดเบือน! ยันงบซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ เป็นของกองทัพเรือ ไม่ได้ขอพิเศษ

วอนอย่าบิดเบือน! “โฆษกกลาโหม” ยันงบซื้อ “เรือดำน้ำ” เป็นของกองทัพเรือ ไม่ได้ขอพิเศษ ชี้ ทร. เสียสละงบช่วยโควิด 2 ปีซ้อนกว่า 7 พันล้านบาท

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ถึง โครงการจัดหาเรือดำน้ำ ว่า เป็นโครงการภายใต้วงเงินของกองทัพเรือ (ทร.) ผูกพันงบประมาณข้ามปี 2563 ซึ่งผ่านสภาฯ และได้บรรจุในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แล้ว ไม่ใช่โครงการผูกพันงบประมาณปี 2564 อย่างที่มีการเข้าใจกัน

โดยโครงการนี้เป็นไปตามกรอบงบประมาณที่กองทัพเรือ ได้รับการจัดสรรในทุกปี ไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นการตั้งงบฯ ผูกพันปกติ ทั้งนี้ ในปี 2563 ทร. ได้ชะลอโครงการเรือดำน้ำไปแล้ว โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้ส่งคืนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ประมาณ 3,375 ล้านบาท และปี 2564 ก็เลื่อนออกไปอีก 3,925 ล้านบาท

เรือดำน้ำ31863 1

“ไม่อยากให้มีการบิดเบือน เพราะส่วนนี้เป็นงบประมาณในส่วนของ ทร.เอง ไม่ได้รับการจัดสรรให้มากขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมกองทัพได้งบประมาณทั้งหมด 6.77% ของงบประมาณทั้งหมด

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ประเทศไทย ถือเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค มีผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล คิดเป็น 95% หรือ 20 ล้านล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมที่มีอยู่ 30 แท่นขุดเจาะ มีคนทำงานอยู่เป็นหมื่นคน มูลค่า 3 แสนล้านบาท ภาคประมงอีก 2 แสนล้านบาท มีชาวประมงที่ประกอบอาชีพหลายแสนคน การท่องเที่ยวอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เราต้องดูแล

นอกจากนั้น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ เจดีเอ ที่กำหนดร่วมกันจะสิ้นสุดปี 2572 สถานการณ์ทางทะเลขณะนี้ กำลังมีความขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลต้องมีให้ครบทุกมิติ ทั้งผิวน้ำ บนฟ้า บนแผ่นดิน และใต้น้ำ ซึ่ง ทร. มองครบทุกมิติโดยเฉพาะมิติใต้น้ำ จึงขอเรียนว่า มีความจำเป็น เพราะกว่าจะต่อเรือดำน้ำใช้เวลา 6-7 ปี แต่ เจดีเอ จะสิ้นสุดในปี 2572 จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้

พล.ท.คงชีพ ยืนยันว่า สัญญาที่ทำกันถูกต้อง ไม่อยากให้มีการบิดเบือน อีกทั้งสัญญาเรือดำน้ำลำที่ 1 ได้ดำเนินการจบไปแล้ว เมื่อมาถึงการดำเนินการลำที่ 2 และลำที่ 3 เราทราบถึงความกังวลของคณะกรรมาธิการฯ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงประสานให้กองทัพเรือ เลื่อนการจัดหาไปก่อน

“กองทัพเรือยอมสละงบประมาณในส่วนนี้ โดยรอบแรก 3,375 ล้านบาท และปีนี้ ทร.ยอมเสียสละปี 2564 อีก วงเงิน 3,925 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่อยากให้มีความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เพื่อให้กองทัพมีความเข้มแข็งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล” พล.ท.คงชีพ กล่าว

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี กำชับทุกเหล่าทัพให้ความสำคัญงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประสานกับเหล่าทัพ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยให้แสวงหาความร่วมมือกันหน่วยงานนอกกระทรวงกลาโหม ทั้งสถาบันการศึกษาภาคเอกชนที่เป็นภูมิปัญหาของคนไทยในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การประดิษฐ์และใช้เองในกองทัพ เพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่โครงการเล็กๆ ขึ้นมา

ส่วนยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องซื้อ ให้มีการพิจารณาเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพ และให้พิจารณาซื้อจากในประเทศก่อน โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ภายใต้บัญชีนวัตกรรมที่กำหนด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo