Politics

เยาวชนปลดแอก ชง ‘รีเซ็ทรัฐธรรมนูญ’ หมวด 1-2 อายุ 18 ปี สมัคร ส.ส.ได้

เยาวชนปลดแอก ชงรีเซ็ทรัฐธรรมนูญ แก้หมวด 1-2 เสนออายุ 18 ปีลงสมัครเป็น ส.ส.ได้ หนุนตั้ง ส.ส.ร. ล้าง ส.ว. เน้นความเท่าเทียมทุกเพศ

คณะรณรงค์​เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน​ (ครช.) จัดเสวนาในหัวข้อ​ “ผ่าทางตัน​รัฐธรรมนูญไทย​ ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น” โดยในวงเสวนารอบที่ 3 เป็นการเสวนามุมมองที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และความจำเป็นในการแก้ไข จากตัวแทนนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม เยาวชนปลดแอก

เยาวชนปลดแอก

นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาหลายอย่างทำให้ต้องมีการรีเซ็ท ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด และจะต้องมาจากประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่นิสิตนักศึกษา เพื่อร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ออกแบบโครงสร้างทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของประชาชน โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

ทั้งนี้ ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมได้ทุกกระบวนการ แต่การที่เราอยู่ใต้รัฐบาลนี้ที่อยู่มาแล้ว 6 ปี ไม่อาจไว้วางใจให้รัฐบาลดูแล สสร. หรือรอดูแลกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะอาจใช้อำนาจบางอย่างแทรกแซง หรือใช้ สสร. ในการสืบทอดอำนาจ ซึ่งตนมองว่ารัฐบาลนี้ไม่ควรอยู่ต่อ ควรออกไปได้แล้ว

นอกจากนี้ ต้องสร้างบรรยากาศทางทางการเมือง เพื่อเอื้อให้มีการตั้ง สสร. คือ การมีรัฐบาลใหม่ และในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เสนอ 2 ประเด็นคือ แก้ไขระบบการเลือกตั้งและผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพื่อลดภาระของพรรคการเมืองไทยให้สามารถลงสมัครรักรับเลือกตั้งได้ นำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมและบัตรใบเดียวออกไป

ขณะเดียวกัน ยังขอแก้ไขผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งจากเดิมที่ต้องอายุ 25 ปี เป็น 18 ปี และในส่วนของ ส.ว. ต้องนำ ส.ว.250 คนออกไปทั้งชุด เพื่อไม่ให้ ส.ว. พวกนี้มีอำนาจมาโหวตนายกฯ ได้อีก โดยมาตรา 256-272 ต้องถูกลบออกจากรัฐธรรมนูญ

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้กลไกรัฐสภา แต่ประชาชนจะเป็นคนนำ และต้องทำตามประชาชน  เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ต้องเปิดทางให้มีการตั้ง สสร. ด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หน้าที่ของพวกคุณ ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งประชาชน ว่ารัฐธรรมนูญหมวดนั้นแก้ได้ หรือหมวดนี้ห้ามแตะ โดยประชาชนต้องเป็นคนกำหนดได้ทุกหมวด ทุกมาตรา”นายทัตเทพ กล่าว

ปลดแอก

ทั้งนี้เพราะปัญหาการเมือง ปัญหาประเทศกระจายตัวอยู่ทุกหมวดตั้งแต่หมวดแรก ดังนั้นจึงขอให้สมาชิกรัฐสภา มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ขอให้เปิดทางให้ประชาชน เป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยเจตนาจำนงของพวกเขาเองทุกหมวด ทุกมาตรา และให้นำมาถกเถียงเพื่อให้เกิดการแก้ไข

ด้าน นายณวิบูล ชมภู่ หรือระวี ประธานร่วมภาคีนักศึกษาศาลายา กล่าวถึง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ส.ว. ไม่ได้รับเลือกโดยประชาชน แต่เลือกโดยกระบวนการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรเป็นอำนาจที่ประชาชนตัดสินใจ

ดังนั้น ถ้าใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อ อำนาจจะเป็นของคนกลุ่มหนึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน ขัดต่อประชาธิปไตย ต้นแบบของ ส.ว. เอามาจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เขาเรียกว่าสภาขุนนาง ซึ่งมีอำนาจแค่ตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ชอบธรรม ไปปรึกษาควีนและยื่นศาลฎีกาที่มาจากประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเรามาจาก ส.ว.

อย่างไรก็ตาม หากไม่ยกเลิก ส.ว. ก็ขอให้มาจากประชาชนมีสิทธิเลือก ตรวจสอบอำนาจของสถาบันฯ เพื่อให้สองฝ่ายได้อยู่ร่วมกัน ท้ายที่สุดตนก็คิดว่าควรยกเลิก ส.ว. อยู่ดี รัฐธรรมนูญนี้อำนาจยึดโยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ยึดโยงประชาชน ประชาชนต้องเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ยึดโยงประชาชนโดยแท้จริง

ขณะที่ประเด็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วยว่า ต่างประเทศที่กษัตริย์เป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตย สามารถโดนฟ้องร้องได้ ถ้าเกิดการใช้งบแผ่นดินไม่โปร่งใส ประชาชนประท้วงได้ การแต่งตั้งองคมนตรีมาจากสภา และควีนจะปลดนายกฯ ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ส่วนพระราชอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกตามรัฐธรรมนูญไทยนั้น มองว่ารัฐสภาและนายกฯ มีอำนาจพอในการตัดสินใจเร่งด่วน ทำไมต้องให้ท่านทรงงานเรื่องนี้

ส่วน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนชายและหญิงมีสิทธิเท่ากัน ทำไมไม่เขียนบุคคลเท่ากันไม่ต้องแบ่งเพศ LGBT คนยอมรับได้ ทำไมรัฐธรรมนูญยอมรับไม่ได้ การศึกษาบอกควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานแต่ไม่บอกได้ฟรี เกณฑ์ทหารก็ควรยกเลิก เสียเวลาพัฒนาตัวเอง 2 ปี ทั้งที่ไม่มีสงคราม รัฐธรรมนูญไม่มาจากประชาชนถึงมีปัญหาอย่างนี้ เราไม่ควรทนอยู่กับกฎหมายที่ผิดเพี้ยนขนาดนี้ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรแก้โดยเร็วที่สุด และด้วยการเลือกตั้ง สสร. เพื่อให้เป็นกฎหมายโดยประชาชน เพื่อประชาชน

น.ส.ปนัสยา กล่าวต่อว่า การผลักดันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไปเป็นหนึ่งในข้อเสนอพิจารณาชั้น สสร. จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ที่ห้ามแตะสถาบันฯ โดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอว่า การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหาร ในทุกรูปแบบ โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย คือหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน ขอให้ทุกคนแสดงความกล้าพูดในสิ่งที่ไม่พอใจ ผิดปกติ แม้กระทั่งเรื่องสถาบันฯ ก็ตาม ขอส่งความกล้าให้ทุกคน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo