Politics

‘พรเพชร’ เปรียบ ‘ส.ว.’ เหมือนคนในครอบครัว ไล่ไม่ได้ เพราะมีสิทธิบางอย่าง

“พรเพชร” บอกคงยุบ ส.ว. ไม่ทันเดือน ก.ย. 63 เพราะทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย เปรียบเหมือนคนในครอบครัว อยากไล่ไปก็ไม่ได้ เพราะเขาก็มีสิทธิบางอย่าง

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (16 ส.ค. 63) แกนนำกลุ่ม เยาวชนปลดแอก ยื่นข้อเสนอให้ยุบสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งภายในเดือนกันยายน 2563 มิเช่นนั้นจะมีการยกระดับการชุมนุมนั้น

พรเพชร ส.ว.

วันนี้ (17 ส.ค. 63) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องไปพิจารณาและหารือกับส.ว. คนอื่น

ในแง่ของความเป็นไปได้ จำเป็นต้องดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และคงจะเป็นไปได้ยากในทางนิติบัญญัติ ที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2563 เพราะไม่น่าจะทัน จึงต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษา และการคงอยู่ของส.ว. รวมทั้งการคงอยู่ของฝ่ายบริหาร ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

จะบอกให้คนนั้นคนนี้ออก ซึ่งแม้กระทั่งข้าราชการตัวเล็กๆ ที่จะต้องให้ไปจากราชการ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย คงจะไปใช้มาตรการอะไรที่บอกไม่ได้ว่ามาจากอำนาจอะไร ก็คงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับน้องๆ คือ บางครั้งเราก็อาจจะเข้าใจผิดบ้าง เช่น บ้านเรามีครอบครัว มีคนใช้ เราอยากให้เขาไป บางครั้งก็ไล่เขาไปไม่ได้เหมือนกันนะ เขาก็มีสิทธิอะไรบางอย่าง

นายพรเพชร ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นอำนาจของประชาชน หากมาตราที่ไม่สำคัญมีมาก ก็สามารถแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่หากเป็นเรื่องสำคัญต้องฟังเสียงประชาชนทั้งหมดด้วยการทำประชามติ

ส่วนการแก้ไขในข้อสำคัญที่ต้องใช้เสียง ส.ว. ด้วย นายพรเพชร กล่าวเพียงว่า ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ส่วนเรื่องที่กระทบต่ออำนาจหน้าที่วุฒิสภา ก็ไม่ใช่จะทำไม่ได้ แต่ต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย

คณะประชาชนปลดแอก เยาวชนปลดแอก

จะพึ่ง ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญหรือรัฐประหาร

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ถึง 272 เพื่อตัดส.ว. ตามบทเฉพาะกาล 250 คนออก ว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่า เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน ก็ต้องรับฟัง

แต่ในขณะนี้ต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า ไม่ว่าจะชอบหรือจะชังรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ตามระบบที่มีอยู่ จำเป็นจะต้องมีเสียงของส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3

ถ้าจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปอย่างไร จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่ หรือจะแก้ไขรายประเด็น หรือจะไม่ชอบวุฒิสภายังไงก็ตามแต่

“หากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 คน ไม่เช่นนั้นก็มีแค่ 2 วิธี คือ การรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดการปฏิวัติประชาชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 2 ทางมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรว่าให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา” นายคำนูณ กล่าว

ส.ว.ทุกคนพร้อมลงมติ ตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน แต่ขณะนี้จะให้แต่ละคนบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่เห็นโจทย์หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาก็พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด

หากมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาก็พร้อมนำมาศึกษาในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา หรือสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนก็จะนำมาศึกษา เพื่อตัดสินใจประกอบการลงมติ

0000หกดหกห

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าเบื้องต้นจะอยู่ที่สัปดาห์นี้ ที่ต้องดูว่าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาลรวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีกำหนดจะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 กันยายน และถ้ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามา

คณะรัฐมนตรี (ครม) จะต้องเสนอร่างของ ครม. เข้ามาประกบเพื่อพิจารณาร่วมกันด้วย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นโจทย์ก็จะชัดเจนมากขึ้น ว่ามีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมดกี่ร่าง รวมถึงร่างที่ประชาชนจะนำเสนอเข้ามาด้วย ซึ่งจะได้นำมาศึกษาและตัดสินใจกัน

ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ส.ว. ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบของส.ว. ถึง 84 คน

ซึ่งตนเองเคยเรียกร้องตั้งแต่ปีที่แล้ว และล่าสุดยังเสนออยู่ว่าสมควรจะมีเวทีให้ตัวแทนของส.ว. เข้าไปร่วมหารือด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ยังสามารถทำได้ และไม่ใช่เฉพาะแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถทำได้โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ซึ่งก็สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ทางวุฒิสภาก็ตอบได้เพียงเจตนาที่พร้อมจะให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แม้จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถานภาพของวุฒิสภาเอง แต่เชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนไม่ได้ยึดติดในจุดนี้ เพียงแต่จะให้ตอบชัดเจนตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่เห็นตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo