Politics

‘ปรับครม.’ ไม่กระทบอีอีซี เปิด 4 เมกะโปรเจ็ค เดินหน้าดึงลงทุนเข้าไทย

ปรับครม. ไม่กระทบอีอีซี รัฐบาลยืนยัน เดินหน้าตามแผน 4 เมกะโปรเจ็ค รอลงนามเอกชนสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังระยะ 3 เร็วๆนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีมีข้อกังวลว่า การปรับคณะรัฐมนตรี อาจมีผลต่อความต่อเนื่อง ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น รัฐบาลยืนยันว่า การ ปรับครม. ไม่กระทบอีอีซี แน่นอน และมีความคืบหน้าไปมาก

ปรับครม. ไม่กระทบอีอีซี

ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี มีสํานักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตาม ความก้าวหน้าการดําเนินงาน

สำหรับโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานสําคัญ หลายโครงการได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกอย่างจะเดินหน้าต่ออย่างเดียว ไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็น หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างเตรียมดําเนินการรื้อย้าย

รถไฟความเร็วสูงสายนี้ จะเข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ยกระดับสนามบินอู่ตะเภา มาเป็นสนามบินนานาชาติแห่ง ที่ 3 อีกท้ังเป็นการสร้างพื้นที่ต่ออขยายของเมืองให้กับกรุงเทพ และ พื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง)

รถไฟเร็วสูง

2. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วงที่ 1

ลงนามสัญญาร่วมลงทุน วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดําเนินการ แต่งตั้งคณะกรรมการกํากับดูแล และ คณะกรรมการบริหารสัญญา โดย สกพอ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสัญญา และหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในการควบคุม และกํากับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ ของเอกชนคู่สัญญา ตามที่กําหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อดําเนินการก่อสร้าง

3. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง

ทั้งนี้คาดว่าจะทําให้ 3 สนามบิน สามารถรองรับผู้โดยสาร รวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางการบิน และประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

ท่าเรือ

4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่3 ท่าเทียบเรือ F

ปัจจุบัน คณะกรรมการคัดเลือก ได้เร่งเจรจาผลตอบแทน และร่างสัญญากับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จํากัด ในกลุ่มบมจ.ปตท (PTT) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์(GULF) บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นเอกชนผู้รับการคัดเลือก คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชน และลงนามสัญญาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทํา ร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน เพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนสรุปผลการดําเนินงาน ต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณา แนวทางการดําเนินงานโครงการต่อไป

นางสาวรัชดา ยังกล่าวด้วยว่า แม้จะมีการยื่นขอการลงทุนในอีอีซี ลดลงในช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากนี้เป็นต้นไป เพราะยังมีนักลงทุน ที่ต้องการย้ายการลงทุน สืบเนื่องจาก สงครามการค้าจีน-สหรัฐ และ 3 อันดับแรกของประเทศ ที่เข้ามาลงทุนประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

“ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนสบายใจและมั่นใจได้ว่า ท่านนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญขับเคลื่อนการลงทุนในไทยและในพื้นที่ อีอีซี ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม” นางสาวรัชดา กล่าว

นอกจากความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐาน สกพอ. ได้เดินหน้าควบคู่ไปกับ การพัฒนาบุคลากร ร่วมกับสถาบันการศึกษาและเอกชน เพื่อรองรับการจ้างงานในอีอีซี เป้าหมาย จำนวนหลักแสนอัตรา ระยะเวลา 2562-2566 อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo