Politics

โควิดทั่วโลกระบาดรุนแรง ‘หมอธีระ’ ชี้ อัตราเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดือนมี.ค.ถึง 8 เท่า!

สถานการณ์โควิดทั่วโลก ระบาดรุนแรง “หมอธีระ” ชี้ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 16,843,968 คน พรุ่งนี้จะทะลุ 17 ล้านคน ชี้อัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดือนมี.ค.ถึง 8 เท่า ย้ำต้องหยุด Travel Bubble

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงานสถานการณ์โควิดทั่วโลก โดยระบุว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลก วันนี้ 29 กรกฎาคม 2563 ติดเพิ่มอีก 231,642 คน ตายเพิ่มอีก 5,943 คน ยอดติดเชื้อรวม 16,843,968 คน พรุ่งนี้จะทะลุ 17 ล้าน อัตราเร็วเฉลี่ย 1 ล้านคนใน 4 วัน

  • อเมริกา ติดเพิ่ม 63,153 คน รวม 4,488,483 คน ที่น่าเป็นห่วงคือสัญญาณอันตรายจากจำนวนการเสียชีวิตที่มากขึ้น ล่าสุดตายเพิ่ม 1,814 คน บ่งถึง workload ที่ระบบสุขภาพอาจรับภาระไม่ไหวหากไม่รีบควบคุมโรคให้ได้ อเมริกา มีอัตราเร็วเฉลี่ย ติดเพิ่ม 1 ล้านคนใน 15-16 วัน

สถานการณ์โควิดทั่วโลก

  • บราซิล ติดเพิ่ม 38,513 คน รวม 2,480,888 คน ดูแนวโน้มเหมือนบราซิลจะค่อยๆ คุมได้ หวังใจว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 49,622 คน รวม 1,532,125 คน อัตราเร็วเฉลี่ย 1 ล้านคนใน 20 วัน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,395 คน รวม 823,515 คน ค่อนข้างน่าแปลกใจที่รัสเซียมียอดการติดเชื้อเพิ่มราวห้าพันกว่ามาตลอดทุกวัน ไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักโรคระบาดเท่าใดนัก การที่ตัวเลขคงที่แบบนี้มาตลอดไม่น่าเป็นไปได้ อาจเป็นเพราะปัจจัยเชิงระบบมากกว่า เช่น ข้อจำกัด/ข้อกำหนดของการรายงาน ลักษณะและจำนวนการตรวจ กลวิธีในการจัดการควบคุมป้องกันโรค ฯลฯ เอาใจช่วยให้เค้าควบคุมได้โดยเร็ว
  • เม็กซิโก สเปน อิหร่าน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังคงติดกันหลักพันถึงหลายพัน ปากีสถาน วันนี้ต่ำกว่าพันมานิดหน่อย
  • กลุ่มประเทศยุโรปหลายต่อหลายประเทศติดกันหลักร้อยถึงหลายร้อย เฉกเช่นเดียวกับ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์
  • ญี่ปุ่นเมื่อวานติดเพิ่มไปถึง 972 คน เกือบแตะหลักพันแล้ว
  • มาเลเซีย เกาหลีใต้ และจีน ติดกันหลักสิบ แต่ที่น่าสังเกตคือจีนมีหลักสิบติดต่อกันมาหลายวัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่มถึง 68 คน

โดยสรุป ทั่วโลกยังมีการระบาดรุนแรง สี่วันล้านคนอย่างต่อเนื่อง เร็วถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

วิธีการคัดกรองโรคนั้น ปัจจุบันไม่มีวิธีการใดที่การันตี 100% ต่อให้คัดกรองก็มีโอกาสหลุดรอดได้เสมอ การกักตัว 14 วัน จำเป็นต้องทำ ห้ามหลุด และต้องอยู่ในระบบปิด ควบคุมใกล้ชิด ต้องมีระบบติดตามตัว ให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไปไหนอย่างไร เมื่อไร แบบ Real-time

จากการประกาศ ให้สามารถรับคนต่างชาติ ตามที่กำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ไว้นั้น จำนวนคนที่เดินทาง จากต่างประเทศเข้ามาจะมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีความเสี่ยง ในประเทศที่เพิ่มขึ้นได้… ระบบคัดกรองกักตัว และ ติดตามจึงต้องเข้มข้นแม่นยำ

หลายประเทศมีอัตราการตรวจพบผลบวกจาก RT-PCR มากกว่าไทยอย่างมาก ไทยเราตรวจเจอราว 0.5% แต่ของอเมริกามากกว่าไทย 16 เท่า สิงคโปร์และญี่ปุ่น มากกว่าไทยถึง 8-10 เท่า ดังนั้นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงนี้

แค่คิดคร่าวๆ 100,000 คนที่เข้ามา อย่างน้อยมีโอกาสติดเชื้อราว 500 คน (0.5%) และอาจหลุดจากการตรวจคัดกรองวิธีมาตรฐานราว 65 คน (87% sensitivity) ถ้ารัฐไม่สามารถนำไปกักตัวใน state quarantine ได้เพราะสถานที่ไม่พอ แต่ไปให้หน่วยงานหรือองค์กรทำ organizational quarantine แทน แปลว่าต้องเชื่อใจและเชื่อมืออย่างมากว่าจัดการกักตัวได้อย่างมาตรฐาน

ถ้าทำ organizational quarantine หละหลวม จะเกิดระบาดซ้ำได้สูง ควรตระหนักถึงบทเรียนของต่างประเทศ เช่น การระบาดจากแรงงานต่างด้าวในสิงคโปร์ เป็นต้น คิดแค่นี้ก็หนาวแล้ว

ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวนั้น ยังยืนยันว่า “ฟองสบู่ท่องเที่ยว”… ไม่สมควรนำมาพิจารณาตอนนี้ ควรพับเก็บไปก่อนอีก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย คลายล็อคระยะที่ 6…ต้องระวังอย่างยิ่ง ช่วยกันป้องกันตัวเราและสมาชิกในครอบครัว 

ใส่หน้ากากเสมอ… ล้างมือบ่อยๆ… อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร… พูดน้อยๆ.. พบปะคนน้อยลงสั้นลง… เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร… คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้รีบไปตรวจรักษา…

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
29 กรกฎาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK