Politics

อนุฯ ปรองดอง ถก ‘นปช.-พันธมิตร’ ลดปมขัดแย้ง ชง ‘นิรโทษกรรม’

อนุฯ ปรองดองร่วมหารือ “นปช.-พันธมิตร” วาง 4 แนวทางสมานฉันท์ ลดความเกลียดชัง  ยกเรื่องนิรโทษกรรม ให้รัฐบาลพิจารณา

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ทบทวน การปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร แถลงหลัง  ที่ประชุมได้เชิญตัวแทน กลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  รวมถึง นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม มาร่วมรับทราบข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

507197

นายชวลิต กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการ ต้องการหลอมรวมทุกภาคส่วนให้ได้รับความสามัคคี ทุกคนได้ตกผลึกทางความคิดว่า ความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างความขัดแย้ง ให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอดไป ทำอย่างไร จึงจะลดความเกลียดชัง ของแต่ละฝ่าย แล้วหันหน้ามาร่วมมือกัน

การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับความปรองดองสมานฉันท์เพียงอย่างเดียว ยังมีสิ่งอื่นที่คณะอนุกรรมาธิการ ต้องสร้างความเข้าใจ กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดความขัดแย้ง เช่น การอภัย การขอโทษต่อสังคม การให้เกียรติ การเยียวยา เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมาธิการ ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของสังคม

ในเรื่องข้อเสนอการนิรโทษกรรมนั้น ก็จะเป็นข้อหนึ่งที่เสนอไปยังรัฐบาลว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง แต่คงไม่อาจหาญเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้เคยพูดไว้อยู่แล้ว ทั้งในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และในยุทธศาสตร์ชาติ

ส่วนการชุมนุมของนักศึกษา ในเวลานี้ คิดว่ารัฐบาลควรรับฟังและสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบไทม์ไลน์การเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทั้งนี้ทางอนุกรรมาธิการ จะเชิญตัวแทนนิสิต นักศึกษา มาให้ข้อมูลด้วย

“ยอมรับว่าความขัดแย้ง มีทั้งเก่าและใหม่ หลักๆ ที่พูดคุยกันวันนี้คือ ความขัดแย้งที่มีกันตั้งแต่ปี 2548 แต่ในเรื่องความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าสภาให้ความสำคัญ เปิดโอกาสให้ ส.ส.อภิปราย เพื่อต้องการให้รัฐบาลฟังความเห็นของนักศึกษา เพราะความเห็นต่างทางการเมืองต้องรับฟัง ยิ่งเป็นนิสิต นักศึกษา ที่จะมารับช่วงต่อทางการเมือง ผมเห็นว่าเรื่องความขัดแย้งใหม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต้องชัดเจนว่ามีระยะเวลาแก้ไขอย่างไรเพื่อจะได้ทราบว่าในท้ายที่สุดจะมีการเลือกตั้งเมื่อใดเพื่อให้เกิดกติกาใหม่ที่เป็นธรรม”

ด้านนายจตุพร แกนนำ นปช. กล่าวว่า วันนี้ต้องไม่ตั้งคำถามว่า ฝ่ายไหนติดคุกมากน้อยกว่ากัน ใครตายมากน้อยกว่ากัน เพราะการเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีคนตายคนเจ็บ ดังนั้น ต้องตระหนักว่าจะแบกความขัดแย้งไปสู่ปีต่อๆ ไปหรือไม่

ความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากวัน นี้มีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่ความขัดแย้งเก่าก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นถึงเวลาที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องแก้ไขทั้งความขัดแย้งเก่าและใหม่ เพราะประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ที่รุนแรงที่สุด ดังนั้นอะไรที่เป็นทางออกของประเทศก็ต้องพยายาม สิ่งสำคัญในวันนี้คือเราต้องลดความเกลียดชัง

ส่วนนายสุริยะใส  อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การร่วมมือของประชาชนรับมือวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป ดังนั้นควรใช้เวลานี้มาพูดคุยกัน โดยเอาประเทศเป็นตัวตั้ง และยืนยันว่ายินดีที่จะเข้าร่วมการหารือสร้างความปรองดอง ที่จะมีขึ้นอีก

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo