Politics

‘สปสช.’ เล็งใช้ระบบดิจิทัลยืนยันตัวตนผู้ป่วย สกัดทุจริตงบฯ บัตรทอง

“สปสช.” เล็งใช้ระบบดิจิทัลยืนยันตัวตนผู้ป่วย สกัดทุจริตงบฯ “บัตรทอง” ด้านผลสอบ 18 คลินิกเบิกเงินผิดปกติ คาดได้ข้อสรุปเดือนหน้า

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีคลินิกเอกชน 18 แห่งในกรุงเทพฯ เบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการผิดปกติเป็นจำนวนเงินกว่า 74 ล้านบาทว่า เบื้องต้นพบว่ามีกระบวนการตกแต่งข้อมูล เพื่อมาเบิกเงินชดเชยค่าบริการสูงเกินจริง

ในเดือนสิงหาคม 2562 สปสช. เขต 13 กรุงเทพฯ ตรวจพบความผิดปกติของคลินิก 18 แห่งที่มีประชากรในการดูแลรวม 1.9 แสนราย แต่มีการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการในส่วนของงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในรายการเกี่ยวกับการตรวจเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเลือดสูงถึง 1.8 แสนราย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกลุ่มเสี่ยงมากขนาดนี้ จึงได้รายงานให้คณะอนุกรรมการ สปสช.เขต 13 และในเดือนตุลาคม

บัตรทอง สปสช.

ทางคณะอนุกรรมการ สปสช. เขต 13 มีมติให้ขยายผลการตรวจสอบและระงับการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่คลินิกเหล่านี้ และพิจารณาไม่รับคำอุทธรณ์ เพราะเกรงว่าอาจมีการตกแต่งข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลังได้

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทาง สปสช. ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาวิเคราะห์กระบวนการทั้งการจัดสรรงบประมาณและการตรวจสอบติดตาม

ในเบื้องต้นจะมีการเพิ่มในเรื่องการระบุตัวตนดิจิทัล (Digital Identification) ให้มีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการว่าได้รับบริการจากคลินิกจริง เช่น อาจจะให้เสียบบัตรสมาร์ทการ์ด หรือ อาจพิสูจน์ตัวตนออนไลน์ ให้ผู้รับบริการขอรหัสการบริการจาก สปสช. ก่อนเพื่อยืนยันตัวเอง แต่ทั้งนี้ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาจะต้องไม่ยุ่งยากจนกลายเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้เข้าถึงบริการด้วย

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการเบิกจ่ายในรายการที่มีค่าใช้จ่ายสูง จะมีกระบวนการ pre-authorization และ pre-audit รวมทั้งจะนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการตรวจสอบ โดยเพิ่มเงื่อนไขให้ระบบเรียนรู้ เช่น สถานพยาบาลแต่ละแห่งมีศักยภาพเท่าไหร่ ให้บริการอะไรได้บ้าง ศักยภาพการบริการควรเป็นเท่าใด อาทิ การส่งตรวจเลือดในห้องแล็บ จะส่งวันละเป็นหมื่นเคสคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าทำได้ก็ต้องตอบให้ได้ว่าเอาศักยภาพมาจากไหน เอาเจ้าหน้าที่เจาะเลือดมาจากไหน เป็นต้น

สปสช.

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ประธานกลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการกระทำโดยเจตนา ดังนั้นนอกจากคลินิกทั้ง 18 แห่ง ทาง สปสช.ยังขยายผลการตรวจสอบคลินิกอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เบื้องต้นตั้งเป้าว่าในเดือนสิงหาคม 2563 ควรจะต้องมีข้อมูลการตรวจสอบออกมา

อีกทั้ง สปสช. ยังทำเรื่องการจัดเกรดหน่วยบริการ โดยแบ่งเป็นสีเขียว เหลือง แดง ในส่วนของสีแดงหมายถึงหน่วยบริการที่พบว่ามีการเบิกจ่ายผิดพลาดบ่อยครั้ง สปสช. จะมีการตรวจสอบให้มากขึ้น ส่วนสีเขียวหมายถึงหน่วยบริการที่ไม่ค่อยมีข้อผิดพลาดในการเบิกจ่ายเงิน ก็จะสุ่มตรวจประมาณ 5% ของรายการเบิกจ่ายทั้งหมด เป็นต้น รวมทั้งนำระบบ AI เข้ามาเรียนรู้เงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo