Politics

สถานการณ์โควิด ‘หมอธีระ’ ชี้ยอดติดเชื้อ ‘อินเดีย’ ทะลุล้านแล้ว!

สถานการณ์โควิด ‘หมอธีระ’ ชี้ยอดติดเชื้อ ‘อินเดีย’ ทะลุล้านแล้ว! เตือนรัฐการ์ดอย่าตก ลดละเลิกนโยบายที่ใช้กิเลสนำทาง พร้อมคุมนักการเมืองบางกลุ่มให้ดี

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึง สถานการณ์โควิด ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก…อินเดียทะลุล้านแล้ว ส่วนทั่วโลกจะทะลุ 14 ล้านคนในวันพรุ่งนี้ อัตราเดิม 5 วัน เพิ่ม 1 ล้าน… วันนี้ยอดติดเชื้อรวม 13,900,643 คน เพิ่มจากเมื่อวานมากมายเหลือเกิน 245,779 คน ตายแล้ว 591,227 คน เพิ่มจากเมื่อวาน 5,762 คน

อเมริกา เสียชีวิตวันเดียวถึง 959 คน รวมยอดเสียชีวิต 140,926 คน ติดเชื้อใหม่เมื่อวานทำลายสถิติเดิม 70,929 คน รวมแล้ว 3,678,346 คน

สถานการณ์โควิด

บราซิล ติดเพิ่ม 45,403 คน รวมแล้ว 2,012,151 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 35,468 คน รวมแล้ว 1,005,637 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 6,428 คน รวมแล้ว 752,797 คน

สเปน อิหร่าน ปากีสถาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติดเชื้อกันหลักพันถึงหลายพัน

สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมันนี ฝรั่งเศส สวีเดน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ติดกันหลายร้อยคน

เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน ติดกันหลัหน่วยไปจนถึงเกือบร้อย

ที่น่าห่วงคือ ญี่ปุ่นเดินหน้าท่องเที่ยวเต็มที่ โดยมองว่าอัตราตายยังต่ำ ส่วนตัวแล้วผมคาดว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะประสบปัญหาระบบสาธารณสุขรับไม่ไหวในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไปที่ต้องจับตาดู และอาจเห็นอัตราเสียชีวิตสูงขึ้น

นอกจากนี้ระยะยาว หากยาและวัคซีนไม่ดีพอ พื้นที่จะกลายเป็นดงโรค (endemic area) และในอนาคตอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวได้ด้วย…ขอเอาใจช่วยให้สามารถจัดการควบคุมโรคได้โดยเร็ว

ไทยเรา เมื่อวานกระทรวงแถลง มีตอนนึงกล่าวทำนองว่า ระบบรับมือได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ ต้องระวังให้ดีนะครับ สถานการณ์จริง การระบาดของโรคมักควบคุมได้ลำบาก ความประมาทจะเป็นหนทางสู่ความหายนะ

ขอให้เราทุกคนป้องกันตนเองเสมอ…ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่อโคจร และคอยสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว

หากไม่สบาย…รีบไปตรวจรักษา จะช่วยตัดวงจรการระบาดได้

สำคัญที่สุดคือ…รัฐน่ะ…การ์ดอย่าตก ลดละเลิกนโยบายที่ใช้กิเลสนำทางครับ คุมนักการเมืองบางกลุ่มให้ดี

ประเทศไทยต้องทำได้…

ด้วยรักต่อทุกคน…

สถานการณ์โควิด

รศ.นพ.ธีระ โพสต์เล่าอีกว่า เมื่อเช้าเจอเพื่อนบ้านในหมู่บ้านมาถามว่า เราต้องระวังไปอีกนานไหม? ผมตอบไปว่า หากเป็นเหตุการณ์ทหารอียิปต์และน้องชาวซูดานที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อนนั้น เราคงต้องเฝ้าระวังกันไปอย่างน้อยถึงสิ้นเดือนนี้ครับ
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ระมัดระวังเป็นพิเศษ

ในขณะที่การปลดล็อคตั้งแต่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมานั้น ต้องยอมรับว่าเราแง้มประตูให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา ความเสี่ยงของการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาย่อมมากขึ้นกว่าตอนปิดประตู ดังนั้นพฤติกรรมที่เราควรทำเป็น “นิสัย” แปลว่าทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด คือ…

ใส่หน้ากากเสมอ ลดเสี่ยงได้ 85%… ล้างมือบ่อยๆ… อยู่ห่างคนอื่น 1 เมตร ลดเสี่ยงได้ 82%… พูดน้อยลง เพราะเราพูดคุย 10 นาที จะพ่นละอองฝอยออกมา 6,000 ละอองฝอย… พบปะคนน้อยลงสั้นลง… เลี่ยงที่แออัด และหมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว…

โรคนี้ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพร่ง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ และตอนนี้มีสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของตัวไวรัส ที่เราเรียกว่า D614G ซึ่งสายพันธุ์นี้กำลังแพร่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ ตอกย้ำให้เราระวังมากๆ

และพึงระลึกไว้เสมอว่า ระบบป้องกันที่รัฐช่วยวางแผนไว้อย่างรอบคอบก็อาจมีวันหลุดได้

วิธีตรวจที่มีอยู่นั้น ไม่มีวิธีใดสมบูรณ์ ดังนั้นพอมีคนเดินทางเข้ามามากขึ้น โอกาสจะเจอเคสติดเชื้อหลุดเข้ามาจะมากขึ้นตามลำดับ ถ้าประชาชนอย่างเราๆ ไม่ระวัง ก็มีโอกาสติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้

คาดประมาณคร่าวๆ ว่า 30,000 คนที่จะเข้ามานั้น มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อราว 150 คน (อิงอัตราตรวจพบเฉลี่ย 0.5%) และกลุ่มนี้หากตรวจด้วย RT-PCR ซึ่งมีความไว 87% ก็มีโอกาสหลุดประมาณ 20 คน

นี่คือความเสี่ยงที่พอจะคาดการณ์ให้รู้ไว้เบื้องต้น แต่อาจมากกว่านี้หากมาจากประเทศที่เสี่ยงมากๆ ถ้าหลุดมาแต่เรา “ป้องกันตัวดี และพร้อมเพรียง” โอกาสระบาดวงกว้างก็จะน้อยลงหรือไม่มีก็เป็นได้

นี่คือ Survivor game เดิมพันกันด้วยความอดทน อดกลั้น อดออม และพอเพียง

ใครมุ่งหน้าสู่กิเลส ก็มักพ่ายแพ้หรือเจอระบาดรุนแรง ดังที่เราเห็นในหลายต่อหลายประเทศ

หากดูกลุ่มประเทศที่ระบาดระลอกสอง ตอนนี้ยังคุมไม่ได้ โอกาสที่ประเทศจะกลายเป็นดงโรคระยะยาวก็มีความเป็นไปได้สูง
วันนี้ไทยมีเคสเพิ่ม 4 คน มาจากหลายประเทศ ขอให้หายไวไว ปลอดภัยทุกคน

เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน… ประเทศไทยต้องทำได้…

ผมคิดว่า ถ้าศบค.นำร่างนโยบายและมาตรการที่ปรับปรุงแล้วมาให้ประชาชนช่วยกันทำ “นโยบายพิจารณ์ (Policy appraisal)” ก็น่าจะดีนะครับ…จะได้ช่วยกันมองหลายๆ มุม หรือถามไถ่ เพื่อให้สมบูรณ์ ลดโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต…

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK