Politics

ยัน ‘ศบค.’ เปิดเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติปลอดโควิดเข้ามารักษาในไทย!

“สธ.” ยัน “ศบค.” อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามารักษาพยาบาลด้วยโรคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในไทย ย้ำ!! ต้องไม่ใช่ผู้ป่วยโรคโควิด ชี้ต้องมีการตรวจซ้ำ 3 ครั้ง กักตัว 14 วัน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ออกมาตรการให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามารักษารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub)

ทั้งนี้ ในเฟสแรก ต้องเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติรักษาต่อเนื่อง กับสถานพยาบาลในไทยอยู่เดิม แต่ไม่ใช่กรณีเข้ามาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 โดยต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น รับเฉพาะที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ จำกัดจำนวนผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน

ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์57631

สำหรับ หลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ ทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตาม ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ ยืนยันว่า ไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้วต้องกักกันตัวในห้อง Isolation ward (ห้องเดี่ยว) ในสถานพยาบาลเดียวกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และต้องมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกจำนวน 3 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาล
  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7
  • ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่กักกัน

ที่สำคัญ ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 ต้องมีเอกสารหลักฐานทางการเงิน ที่แสดงถึงหลักประกันว่า สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นทั้งหมดเอง และมีเอกสารรับรองหรือใบนัดหมายการรักษากับสถานพยาบาลในไทย

ทั้งนี้ หากแผนการรักษาเสร็จสิ้นก่อน 14 วัน สถานพยาบาลต้องกักกันตัวผู้ป่วย และผู้ติดตามต่อจนครบ 14 วัน และตรวจยืนยันว่า ไม่มีโรคโควิด-19 จึงจะอนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาลได้ และอาจอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าว ไปในพื้นที่ท่องเที่ยวที่กำหนดได้ ซึ่งคาดว่า จะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

“ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องดาวน์โหลดระบบติดตามตัว หรือ ติดตั้งแอปพลิเคชัน ตามที่ราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการทุกวัน” นพ.ธเรศ กล่าว

กระทรวงสาธารณสุข ขอยืนยันว่า ตลอดเวลาระยะการรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ป่วย และผู้ติดตามดังกล่าว จะไม่สามารถออกนอกสถานที่กักกันได้ จนกว่าจะมั่นใจว่า ปลอดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกัน และควบคุมโรค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงพยาบาลทางเลือก หรือ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ซึ่งเป็นสถานกักกันตัว สามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.hss.moph.go.th และ สอบถามได้ที่สายด่วนกรม สบส.1426

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo