Politics

วันเข้าพรรษา – วันอาสาฬหบูชา ทำบุญแบบ New normal ปลอดโควิด

วันเข้าพรรษา – วันอาสาฬหบูชา ทำบุญแบบ New normal “กรมอนามัย” แนะประชาชนทำบุญตักบาตรด้วยเมนูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างบุคคล ล้างมือให้สะอาด

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงวันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา ปีนี้ คาดว่า มีประชาชนไปทำบุญตักบาตรกันมากขึ้น การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ที่วัด หากไม่คำนึงถึงอาหาร ที่จะนำมาตักบาตร ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้

เนื่องจากอาหารที่ประชาชนนิยมตักบาตร มักเป็นอาหารที่ไม่หลากหลายและประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูง ทำให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกินเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพพระสงฆ์

ใส่บาตร พระ37631

ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ จึงควรเลือกอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาวหรือข้าวกล้องผสมข้าวขาว เลี่ยงเมนูอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง อบหรือยำแทน เพิ่มผักและผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ เป็นต้น

สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ปรุงอาหารเอง ควรเลือกซื้อจากร้านที่มีการปรุงสุก ใหม่ มีการใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือและใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดปลอดภัย ไม่ใช้โฟมเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ส่วนการตักบาตรด้วยอาหารกระป๋องนั้น ควรเลือกซื้อกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บุบ โดยเฉพาะตะเข็บ หรือ รอยต่อของกระป๋องต้องเรียบ ฝาหรือก้นกระป๋องแบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋องจะต้องไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูนเนื่องจากมีแรงดันของก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหารภายในกระป๋อง และให้ดูฉลากสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรอง และ มีเลขสารบบอาหารหรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย ที่สำคัญ คือ ควรเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่ผลิตใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ญาติโยมควรปฏิบัติเมื่อไปทำบุญ คือการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือนั่ง ยืน ตามที่ทางวัดกำหนดจุดให้ใส่บาตร และควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารใส่บาตร หากประชาชนมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ควรงดการเดินทางไปทำบุญที่วัด

วันเข้าพรรษา

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่าย ของประชาชนในช่วง วันอาสาฬหบูชา – วันเข้าพรรษา และ มาตรการด้านท่องเที่ยวในปัจจุบัน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,234 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่า ประชาชน 66.1% คาดว่า กิจกรรมปีนี้ จะคึกคักน้อยกว่าปีก่อน เนื่องจาก มีความกังวลการแพร่ระบาดของ โควิด เศรษฐกิจ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น และ มีภาระหนี้สิ้น

ดังนั้น คาดว่า จะมีมูลค่าการใช้จ่าย ในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 5,296 ล้านบาท ติดลบ 21 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558

สำหรับกิจกรรมที่ประชาชนนิยมทำใน วันอาสฬหบูชา และ วันเข้าพรรษามากที่สุด ตักบาตร ,ทำบุญทำทาน, เวียนเทียน, ทานข้าวนอกบ้าน และพักผ่อนอยู่บ้าน ส่วนพรที่จะขอ ได้แก่ ขอให้รัชกาลที่ 10 และ พระบรมศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ขอให้ชีวิตมีความสุขกาย สบายใจ และ สมหวังในสิ่งที่ปราถนา ขอให้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและครอบครัวมีความสุข

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว ปกติ หากไม่มีปัญหาการแพร่ระบาด โควิด เข้ามาการทำบุญ ของประชาชนจะมีความคึกคัก แต่ปีนี้ อยู่ในช่วงแพร่ระบาดของโรค แม้ประเทศไทย จะสามารถป้องกัน การแพร่ระบาดโควิด ได้เป็นอย่างดี แต่โดยรวม ยังกังวลว่า การแพร่ระบาด โควิด ยังไม่ปลอดภัย และ เสี่ยงที่จะกลับมาระบาดรอบ 2 ทำให้กังวลที่จะออกมาทำบุญ หรือ ท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เพราะยังไม่มั่นใจ จึงไม่กล้าจะจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาล จะต้องเร่งหามาตรการ ที่จะทำให้ประชาชนผ่อนคลาย และ รู้สึกปลอดภัยที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยว่า จะไม่เกิดปัญหาติดโควิด

นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนยังกังวล และ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย คือ จากปัญหาการปิดกิจการ ที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจกลัวว่า จะถูกเลิกจ้างงาน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ทำให้หลายคนไม่กล้าใช้เงิน เพราะกลัวว่างงาน จนขณะนี้ปริมาณเกิดการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาล จะต้องเร่งหาทางช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน และ เร่งความเชื่อมั่นโดยเฉพาะการเมือง ในการปรับ ครม. จะต้องให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งตัวบุคคล และ แนวทางการกระตุ้นภาคธุรกิจ และ ประชาชนให้มากกว่านี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo