Politics

‘หมอธีระ’ ถามตรงๆ คนชงนำผู้ป่วยต่างชาติเข้าประเทศ ใจคอทำด้วยอะไร!!

“หมอธีระ” ถามตรงๆ คนชงมาตรการหาเงินเข้าประเทศ ด้วยการเอาผู้ป่วยต่างชาติเข้ามา ใจคอทำด้วยอะไร!!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการ “เปิดประเทศ” ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศให้กับชาวต่างชาติบางกลุ่ม

หมอธีระ

วันนี้ยอดทั่วโลกทะลุ 9.5 ล้านคนไปแล้ว

วันเดียวติดเชื้อเพิ่มสูงไปถึง 172,768 คน

อเมริกาติดเพิ่ม 36,210 คน รวม 2,457,726 คน

บราซิลติดเพิ่ม 42,725 คน รวม 1,188,631 คน

รัสเซียติดเพิ่ม 7,176 คน รวม 606,881 คน

อินเดียติดเพิ่ม 16,923 คน รวม 472,985 คน

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็กำลังเจอระบาดซ้ำ

การชงมาตรการหาเงินเข้าประเทศด้วยการเอาผู้ป่วยต่างชาติเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น Medical or Wellness Tourism นั้น…

ถามตรงๆ นะครับ “ใจคอทำด้วยอะไร?”

“ด้วยสถานการณ์ที่เห็นทั่วโลกเช่นนี้ “คนหรือกลุ่มคนที่เป็นต้นตอเสนอมาตรการ” ที่อาจนำความเสี่ยงมาสู่คนไทยทั้งประเทศนั้น “หากแน่จริง และกล้าที่จะรับผิดชอบกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศในอนาคต” ขอให้แสดงตัวออกมาให้สาธารณะได้ทราบครับ” หมอธีระ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 มีมติเห็นชอบร่าง “ระบบการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากผู้เดินทาง ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558”

มาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเสนอ คือ วิธีการจับคู่เจรจา และทำข้อตกลงระหว่างประเทศคู่เจรจา สำหรับการ เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ โดยจะเริ่มจับคู่กับประเทศ ที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อปรับกลุ่มประเทศ และมาตรการได้ตลอด

สำหรับกลุ่มคนที่ เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม

  • บุคคลที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต เช่น คณะทูต คณะกงศุล องค์กรระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาล ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น
  • คนไทยกลับบ้าน ที่ต้องเข้าสู่ระบบกักกัน ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว
  • คนต่างชาติ จะพิจารณาจากวัตถุประสงค์การเข้ามา ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ระยะเวลาในการอยู่ในประเทศ โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับ

3 ระยะ ผ่อนปรนต่างชาติเข้าไทย

  • ระยะที่ 1 คือ กลุ่มที่เข้ามาระยะสั้น อาทิ อาคันตุกะของรัฐบาล กลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กลุ่มที่เข้ามาอยู่ระยะยาว อาทิ กลุ่มแรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างชาติที่เป็นครอบครัวคนไทย ผู้มีเหตุจำเป็น เช่น ครู/นักเรียนจากต่างประเทศตามความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม
  • ระยะที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจและเข้ามาอยู่ในสถานที่เฉพาะ คือ โรงพยาบาล คือผู้ป่วย ที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพ
  • ระยะที่ 3 คือ กลุ่มที่มีการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มีผลต่อเศรษฐกิจและการผลิต คือ กลุ่มนักท่องเที่ยว และแรงงาน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อพร้อม และสังคมมีความเชื่อมั่น ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ต่อไป

กำหนดมาตรการดำเนินการ กับกลุ่มคนที่ เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น การเตรียมตัว ก่อนเดินทางเข้าประเทศ ระหว่างอยู่ในประเทศ และก่อนเดินทางกลับ

  • การเตรียมตัวก่อนเดินทางเข้าประเทศ อาทิ การลงทะเบียน และมีใบรับรอง จากสถานทูตไทย การทำประกันภัย ที่ครอบคลุมการตรวจ และรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด19 ใบรับรองการบิน
  • ระหว่างอยู่ในประเทศ อาทิ การคัดกรอง การตรวจหาเชื้อ การแยกกัก กักกัน และคุมไว้สังเกต ตามระยะเวลา ที่อยู่ในประเทศไทย โดยทีมติดตามด้านการแพทย์ และสาธารณสุข
  • ก่อนเดินทางกลับ อาทิ การรายงานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และ การตรวจหาเชื้อก่อนกลับ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน และเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ในการที่จะเปิดรับผู้ที่ เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK