Politics

‘Travel Bubble’ รอก่อน! คาดชัดเจนหลังเดือน ส.ค.นี้

“Travel Bubble” รอก่อน! “เลขาฯ สมช.” ชี้ต้องพิจารณาหลายปัจจัย คาดชัดเจนหลังเดือนสิงหาคม ลุ้นถกต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่พรุ่งนี้ ก่อนเสนอครม.ไฟเขียวต่อไป

ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช)​ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ​ สมช. ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า กิจกรรมและกิจการบางประเภทที่จะได้รับการผ่อนคลายมาตรการ ในระยะที่ 5 จะประกอบด้วย​ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต สถานบริการอาบอบนวดและโรงน้ำชา ซึ่งจะสามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

Travel Bubble

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ผ่านมา ได้วางมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเป็นขั้นตอน และจะนำข้อหารือทั้งหมดในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ รายงานต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ถ้าที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอ จะสามารถอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป หลังจากนั้น จะเหลือกรณีของสนามกีฬาที่มีคนเข้าชมการแข่งขันเท่านั้นที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้หารือถึงการจับคู่ประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดี เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกัน (Travel Bubble) ในเบื้องต้น คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่เร็วกว่าเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทั่วโลก ความพร้อมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจประเทศต้นทาง

ส่วนการพิจารณาว่าหลังครบกำหนดการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 30 มิถุนายนนี้ แล้วจะต่ออายุการบังคับใช้อีกหรือไม่นั้น สมช.จะมีการประชุมกันในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ จากนั้นจะนำผลการพิจารณารายงานต่อ ศบค.ในวันที่ 29 มิถุนายน ก่อนจะเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม. ) ในวันที่ 30 มิถุนายนต่อไป

Travel Bubble

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในส่วนของ สธ. ได้หารือกับสถานทูตในหลายประเทศ ถึงการจับคู่การท่องเที่ยว และมีร่างเงื่อนไขต่างๆ ที่แต่ละประเทศสามารถยอมรับกันได้

ทั้งนี้ ในประเด็นความกังวลเรื่อง ความปลอดภัย โดยเฉพาะความวิตกว่า จะเกิดการระบาดรอบใหม่ ของไวรัสโควิด -19 นั้น ยืนยันว่า ไม่ใช้่เป็นการเปิดกว้างรับทุกประเทศแน่นอน แต่จะเป็นการจับคู่ระหว่างประเทศ

ที่สำคัญคือ ประเทศที่ไทย จะเปิดให้สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้  จะต้องมีมาตรฐาน​ และ การควบคุมไวรัสโควิด-19 ในขั้นที่ประเทศไทยยอมรับได้ และ มีผู้ติดเชื้อในจำนวนที่น้อย หรือไม่มีเลย รวมทั้งเป็นการเข้ามา เฉพาะกลุ่มที่เจาะจง มีวัตถุประสงค์​และกำหนดระยะเวลา ว่าจะอยู่ในประเทศกี่วัน เป็นต้น

“ส่วนประเทศที่มีการระบาดรอบ 2 จะต้องดูรายละเอียดมาตรการ โดยเฉพาะการหารือ ถึงความปลอดภัย ซึ่งใน MOU มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า หากมีการระบาดเกิดขึ้นอีก จะต้องพักข้อตกลงนี้” นายอนุทิน กล่าว

เปิดเงื่อนไข Travel Bubble ของไทย

สำหรับแนวทางที่ประเทศไทยวางไว้ เพื่อจัดทำแผนโดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่มีความรับผิดชอบด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และหน่วยงานกำหนดยุทธศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ของไทย กำลังพิจารณาแนวทางการเลือก และการจัดทำ Travel Bubble ดังนี้

Travel Bubble

  • แนวทางการเลือกเป้าหมาย จากประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด -19 ได้ดี โดยพิจารณาจาก เกณฑ์ข้อกำหนด และคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
  • วางมาตรการตรวจหาเชื้อ และป้องกันอย่างเข้มงวด โดยต้องตรวจเชื้อโคิด-19 ก่อนเดินทางออกนอกประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้ง เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย รวมทั้งต้องซื้อประกันสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลไทย หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 และต้องรักษาตัวในประเทศไทย
  • ไม่ต้องมีการกักตัว แต่ต้องยินยอมให้มีการติดตามตัว (Track & Trace) ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย และต้องเข้าออกตามระยะเวลาที่แจ้งไว้
  • กำหนดพื้นที่ปิด (Sealed Area) เป็น Safe Zone for Tourism ให้นักท่องเที่ยว โดยพิจารณาจากแหล่งท่องเที่ยวในเมืองหลัก และเมืองรอง ที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้พำนักและท่องเที่ยวได้
  • แนวทางการพิจารณาผ่อนคลายกลุ่มเป้าหมายในการเข้าประเทศ โดยคาดว่า กลุ่มเป้าหมายแรก จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว และกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวร์ลิสต์ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว และมีความจำเป็นต้องเข้ามาเพื่อใช้บริการรักษาพยาบาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo