Politics

โควิดระบาดหนัก! ‘อาจารย์หมอ’ เตือน ‘ศบค.’ คิดสักนิดก่อนรับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในไทย

โควิดระบาดหนัก! “รศ.นพ.ธีระ” โพสต์ถึง “ศบค.” คิดสักนิดก่อนรับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในไทย เตือน “อย่าสู้ศึกหลายด้าน” ไม่ควรทรนงว่าเราชนะโควิดแล้ว ลั่นไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองใด ที่จะการันตีความปลอดภัยได้ 100%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat ระบุว่า เรียน ศบค. และหน่วยงานความมั่นคง โปรดทบทวนมาตรการ รับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศเถิดครับ

ความจริงที่เราควรคำนึงถึง

1. โรคยังระบาดทั่วโลกกว่า 9 ล้านคน เพิ่มวันละแสนกว่า สัปดาห์ละล้านคน ความเสี่ยงจากต่างประเทศจึงมากเกินกว่าจะรับได้

2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้มาคนเดียว มักต้องมีสมาชิกในครอบครัว เข้ามาด้วยไม่มากก็น้อย นั่นแปลว่า ความเสี่ยงย่อมเพิ่มขึ้นมาก และ เป็นมาตรการเลี่ยงบาลีของการเปิดประตูประเทศนั่นเอง

3. ไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองใดที่จะการันตีความปลอดภัยได้ 100% และ แต่ละวิธีที่เรามีอยู่นั้นมีความไว และความจำเพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละระยะของการติดเชื้อ โอกาสหลุดรอด ของเคสที่ติดเชื้อจึงมีสูงขึ้นมากแน่ๆ หากเปิดรับตามมาตรการที่จะชงเข้าสู่ ศบค. ตามที่ออกข่าวทางสื่อมวลชน

โควิดระบาดหนัก

4. การเอาโรงพยาบาลของไทยมุ่งช่วยเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการนำเข้าต่างชาติเข้ามารักษานั้น หากมีกรณีติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ และต้องปิดโรงพยาบาล ดังที่เราเห็นในประเทศเพื่อนบ้านเร็วๆ นี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบ ตามมาต่อการดูแลรักษาประชาชนไทยจำนวนมาก และยิ่งทำให้ช่องว่างทางสังคมกว้างขึ้น และบ่งถึงความไม่เป็นธรรม ด้านสุขภาพต่อสังคมไทยโดยรวม นำความเสี่ยงของคนทั้งประเทศ มาแลกกับรายได้ที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นลักษณะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

5. จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และอื่น มีจำกัดมาก การสร้างมาตรการที่นำความเสี่ยงมาสู่พวกเค้าเหล่านั้น อาจนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิต การขาดแคลนบุคลากร ที่จะเตรียมรับมือการระบาดระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้

จะมีอยู่แค่กรณีเดียวที่เราควรนำเข้าผู้ป่วยต่างชาติมารักษาในประเทศ นั่นคือ กรณีช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม และตามจริยธรรมทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วย ที่เป็นโรคที่ประเทศเค้ารักษาไม่ได้แล้ว และประเทศเรารักษาได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นโรคที่คุกคามชีวิตหากไม่รักษาโดยเร็ว หากจะเป็นกรณีดังกล่าวก็มีน้อยมากจริงๆ

กราบท่านนายกรัฐมนตรี ศบค. และหน่วยงานความมั่นคง โปรดไตร่ตรองให้ดี

สิ่งที่ควรตัดสินใจทำในช่วง 1 กรกฎาคม คือ การปลดล็อคกิจการเสี่ยงสูงตามที่วางแผนไว้ ได้แก่ โรงเรียน ผับ บาร์ อาบอบนวด

การเปิดประตูแง้มให้ต่างชาติเข้ามานั้น ควรเป็นไปในลักษณะที่ทำเท่าที่จำเป็นจริง

“อย่าสู้ศึกหลายด้าน” …ไม่ควรทรนงว่าเราชนะโควิดแล้ว เพราะประเทศที่ประกาศชัยชนะทั้งหลาย ล้วนกลับมาแพ้จนกำลังเมาหมัดอยู่ตอนนี้

ต่างชาติที่เราจะแง้มให้เดินทางเข้ามานั้น ตามที่ตกลงหารือกันคือ กลุ่มที่ลงทะเบียนไว้ราว 23,000 คน ประกอบด้วย

หนึ่ง นักธุรกิจ นักลงทุน 670 คน

สอง ผู้เชี่ยวชาญ แรงงานฝีมือที่จำเป็น 22,000 คน

และสาม คนต่างชาติที่ได้รับสิทธิพำนักในประเทศไทย เช่น คนที่แต่งงานกับคนไทย อีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ทั้งสามกลุ่มข้างต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองตามมาตรฐานสากล เน้นความปลอดภัยทั้งต่อตัวเค้า และคนไทยทั้งชาติ

ไม่ควรเล่นแร่แปรธาตุ ตามการชงแบบมั่วซั่ว และ นำความเสี่ยงที่เกินกว่าจะรับได้เข้ามา

การหาเงินมีหลายทาง สถานการณ์ปัจจุบันต้องหาเงินอย่างปลอดภัย อดทน อดออม อดกลั้น

และโปรดระลึกถึงปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เอาไว้ในใจเสมอ

โควิดระบาดหนัก

นี่คือคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกป้องพวกเราทั้งประเทศจากภยันอันตรายครับ

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อทุกคน

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ธีระ ได้โพสต์ข้อความก่อนหน้านี้อีกว่า นำเข้าผู้ป่วยต่างชาติ… กิเลสที่อาจแลกด้วยชีวิตของคนในสังคม???

หากผมมีความคิดนี้ขึ้นมาในสมอง ในช่วงเวลาที่โรคระบาดทั่วโลก มีสัปดาห์ละล้านคนเช่นนี้…ผมคงต้องคิดหนักว่า ผมยังมีจิตสำนึกของ “ปกติชน” อยู่หรือไม่?

ต่อให้คิดว่า จะเอาโรงพยาบาลที่รับรักษาต่างชาติ มาเป็นที่กักตัวแทนก็ตาม ก็มีโอกาสสูงที่จะหลุดได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องที่มาพร้อมผู้ป่วย หรือ แม้แต่ตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงโอกาสที่บุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละที่ที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

และต้องไม่ลืมความจริงที่ว่า ในทางการแพทย์นั้นยากนักที่จะหาการทดสอบหรือคัดกรองใดที่จะการันตีผลได้ 100%

ยิ่งอ่านข่าวล่าสุด ที่โรงพยาบาลขนาด 1,800 เตียงในปักกิ่งต้องปิดตัวลง เพราะคุณพยาบาล ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย ก็ยิ่งทำให้เราคิดต่อได้ว่า หากเป็นเช่นกรณีที่กล่าวมา การที่โรงพยาบาลในประเทศต้องปิดตัวลงเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดแล้ว จะส่งผลกระทบต่อคนในชาติมากเพียงใด

ความเสี่ยงในการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศนั้นมีสูงยิ่งนัก หากเป็นการดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม และจริยธรรมทางการแพทย์ เช่น ประเทศเค้าไม่มีหนทางรักษาได้ มีแต่ประเทศเราเท่านั้นที่ทำได้ และเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตโดยไม่รักษาในเร็ววัน ก็พิจารณาเป็นรายกรณีไป

ต้องใคร่ครวญให้จงหนัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo