Politics

เปิดเทอม 1 ก.ค. ‘บิ๊กตู่’ กำชับต้องเว้นระยะห่าง มีมาตรการฉุกเฉินรองรับ!

เปิดเทอม 1 ก.ค. “นายกรัฐมนตรี” กำชับต้องเว้นระยะห่าง มีมาตรการฉุกเฉินรองรับ แจงเริ่มนับการเรียนการสอนตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 – 16 พ.ค. 64

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงการ เปิดเทอม และการนับเวลาการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 16 พฤษภาคม 2564 พร้อมให้สถานศึกษาเปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งในชั้นประถมศึกษา มัธยมตอนต้น มัธยมตอนปลาย และสถานศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งการเรียนการสอนทางไกล ให้จัดตารางเวลาเรียนที่ชัดเจนเพื่อที่จะสามารถนับชั่วโมงการเรียนได้

สำหรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ได้นำผลการดำเนินการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อดำเนินการในระยะที่ 3 ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2564 แยกออกเป็น

เปิดเทอม

สถานการณ์ที่ 1 หากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะต้องจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV จำนวน 15 ช่อง รวมถึงหาวิธีการที่เหมาะสม จัดเตรียมความพร้อมสำหรับอุปกรณ์

สถานการณ์ที่ 2 หากไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย มีการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน จะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

สำหรับการวัดและการประเมินผลจะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาจใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ ให้ข้อมูล ตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียน ประสานความร่วมมือจากผู้ปกครอง ใช้การทดสอบรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การประเมินทางอีเมล จัดทำตารางนัดหมายเป็นกลุ่มขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้เห็นชอบลดภาระค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมตั้งแต่ ในการใช้จ่ายการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียน อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ให้มีการดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครองสำหรับนักเรียนพิการ เด็กด้อยโอกาส ทั้งนักเรียนประจำและนักเรียนไป-กลับ

เปิดเทอม

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 54/2563 ได้มอบหมายให้สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ศึกษาแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของโรงเรียนในประเทศต่างๆ มาปรับใช้ เช่น ประเทศเดนมาร์ค ฝรั่งเศส

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร กำหนดเปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จึงต้องเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รับมือเปิดเทอม โดยที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ศึกษาแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของโรงเรียนในประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศเดนมาร์ค ประเทศฝรั่งเศส

สำหรับมาตรการ รับมือเปิดเทอม ในโรงเรียน ประกอบด้วย การสร้างระยะห่างให้นักเรียนทุกคนอย่างน้อย 1-2 เมตร จัดนั่งที่โต๊ะเรียนห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร อนุญาตให้นักเรียนเล่นได้เฉพาะกลุ่มเล็กๆ หมั่นล้างมือทุกชั่วโมงหรือมากกว่านั้น และงดการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน

นอกจากนี้ ในแต่ละชั้นเรียน จะแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม โดยมีครูประจำวิชาช่วยครูประจำชั้นในการสอนนักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อสลับกันออกไปใช้เวลาในพื้นที่กลางแจ้ง หมั่นทำความสะอาดโต๊ะ ลูกบิดประตู สนามเด็กเล่น และพื้นที่เสี่ยงวันละ 2 ครั้ง รวมทั้งอนุญาตให้นักเรียนระดับมัธยมเรียนทางไกลได้

ที่สำคัญคือ หากพบนักเรียนที่มีอาการป่วยต้องส่งกลับบ้านทันที และให้กักตัวอยู่บ้านอย่างต่ำ 48 ชั่วโมง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณโรงเรียนเด็ดขาด ตลอดจนการห้ามนักเรียนยืมสิ่งของกันโดยเด็ดขาด เป็นต้น

Avatar photo