Politics

‘รมว.ศธ’ เคลียร์ทุกปัญหาเรียนออนไลน์! มั่นใจ 1 ก.ค.โรงเรียนเปิดได้ 80%

“รมว.ศธ” เคลียร์ทุกปัญหาเรียนออนไลน์ ย้ำ!! ผู้ปกครองไม่ต้องซื้อคอมพิวเตอร์-แท็บเล็ตให้ลูก มั่นใจ 1 ก.ค.โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนได้ 80%

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เหมือนเดิม ศธ.จึงต้องมีมาตรการเพื่อทำให้นักเรียนทั่วประเทศในทุกชั้นเรียน มีโอกาสได้รับการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพในขั้นพื้นฐาน ซึ่งในวันนี้มีข้อสงสัย ข้อกังวล และข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ตนจึงอยากจะชี้แจงถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิดและ ศธ.ยังยืนยันจะเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ณัฏฐพล244631

สำหรับมาตรการแรก ตั้งใจจะให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นหลัก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง เป็นที่ตั้ง เพราะการสอนที่โรงเรียนทำให้เด็กๆมีคุณภาพที่เหมาะสมที่สุด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน และในอีก 40 กว่าวันก่อนเปิดเทอมนี้ เราไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง เราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนอื่นสำรองไว้ หากไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ และการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนจะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม มีหน้ากาก การทำความสะอาด การเว้นระยะห่าง ลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลงไม่เกินห้องละ 20 คน มีการเข้าเรียนเป็นผลัดๆ ซึ่งน่าจะเป็นการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่โรงเรียน

ส่วนพื้นที่ใดมีข้อจำกัดไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ก็ต้องใช้สื่อทีวีจากสัญญาณของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) โดยนำเนื้อหาสาระการเรียนการสอนมาปล่อยผ่านช่องทีวีดิจิทัล 17 ช่อง ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหลายๆภาคส่วนที่ให้ช่อง โดยแบ่งช่องตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6 อาชีวศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งหวังว่าจะให้สาระขั้นพื้นฐานเพียงพอหากเราไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้

97453484 3200065950023689 2155930796404244480 o

ส่วนความเข้าใจที่ผู้ปกครองต้องเตรียมทำการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นความคิดที่ผิด เพราะ ศธ.เตรียมการเรียนการสอนออนไลน์เสริมเฉพาะเด็กนักเรียนชั้น ม.4-ม.6 ซึ่งเป็นเด็กโตและน่าจะมีอุปกรณ์ หรือสมาร์ทโฟน เท็บเล็ต แล็ปท็อบ ในการเสริมการเรียนการสอนด้วยออนไลน์ แน่นอนมีนักเรียนในกลุ่มนี้ประมาณ 10% ของนักเรียนทั้งหมดที่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้เรียนที่บ้านได้ ก็ต้องเป็นการตัดสินใจของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่จะหาทางให้ความรู้แก่นักเรียนที่ไม่แตกต่างจากเพื่อนๆที่มีอุปกรณ์ อาจจะให้นักเรียนกลุ่มนี้ไปเรียนเสริมทักษะที่โรงเรียน จะได้รับการเรียนรู้ 2 ทางแบบเพื่อนๆ

ส่วนโรงเรียนอื่นๆที่ไม่ใช่ ม.4-6 แต่มีความพร้อมสอนออนไลน์ให้เด็ก เราก็ยินดีเพื่อทำให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานเกินที่เราวางไว้ จึงขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ใช่นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะผลักภาระให้ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆทั้งสมาร์ทโฟน เท็บเล็ต แลปท็อบ หรือเพิ่มเติมในส่วนของอินเตอร์เน็ต

“วานนี้ (18 พ.ค.) ผมได้ลงพื้นที่ไปสุ่มตรวจเยี่ยมการเรียนของนักเรียนใน จ.อ่างทอง หลังจากที่มีการปล่อยสัญญาณผ่านทีวีดิจิทัล ก็เห็นปัญหาหลายๆอย่าง ไม่มีอะไรที่เกินความคาดหมาย และเราจะใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่ก่อนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จะวางแผนแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละบ้าน แต่ละโรงเรียน ซึ่งการที่ ศธ.ตั้งใจจะจัดการเรียนการสอนผ่านทีวี เพราะเราคิดว่าทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทย 90% มีทีวีของครัวเรือน แต่วันนี้พบว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่ให้เตรียมอุปกรณ์ไว้ ไม่ได้ใช้ทีวี แต่ใช้โทรศัพท์ หรือสมาร์ทโฟนในการดึงสัญญาณผ่านเว็บไซต์ของ DLTV จึงเกิดเว็บไซต์ล่ม ถึงแม้ทางมูลนิธิฯจะเตรียมตัวไว้แล้ว แต่เนื่องจากคนดูการสอนจากมือถือเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีว่าในพื้นที่ที่ครัวเรือนมีรายได้ไม่สูงมาก ก็สามารถมีสมาร์ทโฟนได้” รมว.ศธ. กล่าว

97846151 3200065896690361 4448124627184517120 o

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวหมายความว่าการขับเคลื่อนในอนาคต ในการจัดการเรียนการสอนผ่านดิจิทัล ผ่านออนไลน์ น่าจะทำได้มากขึ้น และการใช้สมาร์ทโฟนของนักเรียนซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ตนจึงประสานกับกระทรวงดีอีเอส เพื่อขอกล่องสัญญาณ 2 ล้านกล่อง และหารือผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ต เพื่อหาทางช่วยแบ่งเบาภาระนี้ออกจากนักเรียน รวมถึงหลายๆบ้านที่พบว่ามีทีวี แต่กล่องไม่รับสัญญาณ DLTV หรือมีสัญญาณ แต่ไม่สามารถจูนช่องได้ จึงต้องขอให้ทางอาชีวะไปช่วยจูนสัญญาณเพื่อให้สามารถรับชมการเรียนได้

นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า วันที่ 1 กรกฎาคม นี้ โรงเรียนทั่วประเทศต้องทำการเรียนการสอน ส่วนจะสอนที่โรงเรียน หรือสอนออนไลน์เสริมก็ต้องดูในแต่ละพื้นที่และบริบทนั้นๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ เพราะในวันที่ 1 กรกฎาคม โรงเรียน 80% สามารถเปิดเรียนปกติที่โรงเรียนได้ อาจจะมีโรงเรียนบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังต้องควบคุมและยังไม่เปิดเรียนที่โรงเรียน แต่จะใช้การสอนผ่านทีวีและออนไลน์เสริม ส่วนโรงเรียนพื้นที่อื่นก็เปิดได้ตามปกติ โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข จึงอยากให้ผู้ปกครองลดความกังวลลง

ส่วนที่มีผู้ปกครองไปหาซื้อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เพราะเกรงว่าบุตรหลานจะเรียนไม่ทันเพื่อนนั้น ตนขอยืนยันว่าเด็กที่มีอุปกรณ์หรือไม่มีอุปกรณ์ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการประเมินความสามารถหรือสมรรถนะของนักเรียน เพราะครูมีศักยภาพพอที่จะปรับแนวคิดในการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป และครูสามารถประเมินได้ว่าเด็กคนไหนมีข้อจำกัดอะไรและหาเวลาติวเพิ่มเติมเสริมให้กับเด็ก และ ศธ.อาจจะจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนจัดหาผู้ช่วยครู เพื่อขับเคลื่อนให้ภาระของครูน้อยลง และการที่งดกีฬาและกิจกรรมต่างๆ ลง จะทำให้ครูมีเวลามากขึ้นในการเตรียมการดูแลนักเรียน และ ศธ.จะหารือกับหน่วยงานที่ประเมินนักเรียนว่าให้หาแนวทางที่เหมาะสมในการประเมินในช่วงวิกฤตินี้ด้วย

ภาพจาก Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

Avatar photo