Politics

สั่งเฝ้าระวังพายุ ‘เบบินคา’ พร้อมเร่งทำแผนระบายน้ำ

สมเกียรติ ประจำวงษ์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า ที่ประชุมมีมติให้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่วิกฤติ พร้อมทั้งจะมีการคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 3 วัน เพื่อระบุพื้นที่ฝนตกหนักระดับอำเภอ รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำได้แก่ ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น และจัดทำแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ จัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงอุทกภัย กรณีการระบายน้ำฉุกเฉินของอ่างเก็บน้ำและกรณีเขื่อนวิกฤติ ตลอดจนสำรวจความแข็งแรงของเขื่อน และสร้างการรับรู้ภาคประชาชนต่อเนื่อง

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และมีปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนนั้น ๆ เฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดและบริหารจัดการน้ำเพื่อรับน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้น โดยให้จัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนระบายน้ำเช่นเดียวกันกับกรณีของเขื่อนแก่งกระจาน โดยขอให้มีการรายงานสถานการณ์น้ำแยกเป็นรายวัน กรณีปกติ ราย 3 ชั่วโมง กรณีเกินเกณฑ์ระดับควบคุมอ่างเก็บน้ำ รายชั่วโมง กรณีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำได้แก่ ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น แผนการระบายน้ำ อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งของประเทศจีนตอนใต้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) คาดว่า จะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 สิงหาคมนี้ จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 4 เมตร จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน และในแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคกลางและใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก ส่วนแม่น้ำโขง แม้ขณะนี้จะมีระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแต่ก็จะเพิ่มขึ้นได้หากฝนตกหนัก ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลุ่มน้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ คือ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100 %

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK