Politics

โควิดยังอยู่!! ‘โฆษกศบค.’ เตือน! คนกรุงยังใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้

“โฆษก ศบค.” ชี้แจงการตรวจแบบเลือกตรวจกลุ่มเสี่ยง พบผู้ติดเชื้อมากกว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่า ย้ำ 11 มาตรการการป้องกันโรคตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถือเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับการเปิดให้บริการของกิจการต่างๆ

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. อธิบายถึงวิธีการตรวจเชื้อที่ดีที่สุดคือการตรวจ PCR คือ การหาเชื้อด้วยสารคัดหลั่งบริเวณโพรงจมูกด้านหลัง หรือน้ำลาย อีกวิธีหนึ่งคือการตรวจ Rapid Test เป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือด ซึ่งวิธีนี้มีต้นทุนที่ถูก แต่ผลยังไม่มีการรองรับเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ ฝ่ายวิชาการได้ปรึกษาแล้ว ให้การตรวจแบบ PCR ซึ่งเป็นการตรวจแบบมาตรฐาน หากตรวจเชื้อทั้งหมด อาจพบผู้ติดเชื้อนิดเดียว เปรียบเทียบกับการเลือกตรวจกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะทำให้เจอผู้ติดเชื้อมากกว่า ทั้งสองวิธีนี้ผ่านการทดลองแล้ว จึงเลือกเข้าไปตรวจในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพื้นที่ขอบชายแดน กลุ่มแรงงานแออัด กลุ่มคนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง เป็นต้น โดยมีงบประมาณประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถูกกว่าการใช้งบประมาณตรวจแบบปูพรมทั้งประเทศที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในที่ประชุมศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข ทุกเขตวางแผนการตรวจแบบเฉพาะเจาะจงในกลุ่มที่มีความเสี่ยงของทุกเขตตรวจราชการ โดยพยายามดำเนินการโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงผ่อนปรนมาตรการ เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลต่อไป

ทวีศิลป์2341

ส่วนการขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่จะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่ทั่วโลกทำกัน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ฉะนั้นหากมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถลงทะเบียนหรือร้องขอความช่วยเหลือได้ที่สถานกงสุล หรือสถานเอกอัครราชทูตที่ประจำอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้ทั่วโลก โดยเจ้าหน้าที่จะจัดลำดับความสำคัญและให้การดูแลช่วยเหลือทั้งการมอบถุงยังชีพ หรือหากต้องกากลับประเทศก็จะเข้าสู่กระบวนการพากลับต่อไปตามช่วงเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ “โฆษก ศบค.” ได้ชี้แจงมาตรการสำหรับการเปิดบริการร้านค้า ตลาด สถานประกอบการนั้น แม้ยังไม่มีกำหนดชัดเจน แต่ตามการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น มี 11 ข้อมาตรการการป้องกันโรค ถือเป็นมาตรฐานกลางที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ให้มีมาตรการการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อใช้ในการปฏิบัติในการทั่วไป หรือใช้ในกรณีผ่อนผันหรือยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด ดังนี้ ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนจัดกิจกรรม หรือการกำจัดขยะมูลฝอยเป็นประจำทุกวัน ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรมใช้หน้ากากอนามัย หรือ สวมหน้ากาก ล้างมือ นั่งเว้นระยะหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันการติดต่อสัมผัส เป็นมาตรการพื้นฐานที่ต้องให้ความร่วมมือ

กรณีกรุงเทพฯ ที่ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ล่าสุด (28 เม.ย.) พบติดเชื้อ 3 คน แสดงว่าการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ไม่ได้หมายความว่าเชื้อโรคหายไป จึงใช้ชีวิตเหมือนเดิมยังไม่ได้ จนกว่าจะมีวัคซีนหรือยารักษาให้หาย ซึ่งจะต้องอยู่กับเชื้อโรค จึงยังต้องเข้มในการป้องกันควบคุมโรคต่อไป อยากให้ทุกคนปรับตัวตามชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้มีชีวิตที่มีความสุขกับทุกกิจกรรม การกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็วและมีความสูญเสียน้อยที่สุด” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

Avatar photo