Politics

‘สทนช.’ จ่อออกประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย!!

38412077 1785347131541185 4074919379643400192 n
ภาพจากเพจ รอบรั้วชลประทาน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย  ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายชยพล  ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันแถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการแก้วิกฤติน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561

​​นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้มี 38 หน่วยงานด้านน้ำร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝนใน 2 ส่วนหลักด้วยกัน มีการเตรียมการล่วงหน้าก่อนสถานการณ์น้ำปีนี้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการตามช่วงเวลารองรับทุกระดับของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ได้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นการดำเนินการเชิงป้องกัน และไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยปี 2554

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบันขณะนี้มี 8 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนปราณบุรี โดยมี 2 เขื่อนที่ปริมาณน้ำเกินกว่า 100% ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 103% และเขื่อนแก่งกระจาน 103 % ซึ่งสทนช.ได้กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำให้อยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมถึงเตรียมการช่วยเหลือพื้นที่ท้ายน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางบูรณาการทุกหน่วยงานแจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในระดับพื้นที่

สำหรับระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรี รับน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน มาที่ อ.เมือง มีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 69 ซม. เนื่องจากมีการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานมากขึ้น ประกอบกับมีน้ำที่ไหลจากเขื่อนแก่งกระจานผ่านทางระบายน้ำล้น(สปิลเวย์)แนวโน้มลดลง ขณะนี้สูงประมาณ 54 ซม.จากเมื่อวานนี้ 60 ซม. ส่วนสภาพน้ำในอ่าง เขื่อนแก่งกระจานแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง แต่จากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า

“สทนช.เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์รวมถึงเร่งระบายน้ำต่อเนื่องให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมด้วย จากการวิเคราะห์ปริมาณฝนสะสม 7 วัน ที่เกิน 150 มม. มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร มุกดาหาร ภาคตะวันออกปราจีนบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี ซึ่งสทนช.เตรียมออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนป้องกันและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโดยเร็วต่อไป”นายสมเกียรติ กล่าว

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK