Politics

‘สทนช.’ สั่งเตรียมรับมือพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่

38542170 1256515627824938 867224420425400320 n

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ คาดการณ์ว่าจะมีพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนจากเกาะไหหลำในวันที่ 14 สิงหาคมผ่านตอนเหนือของเวียดนาม ผ่านประเทศลาวในวันที่ 15 สิงหาคมและอาจพาดผ่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 16 สิงหาคม และเข้าประเทศเมียนมาในวันที่ 17 สิงหาคมซึ่งจะทำให้มรสุมกำลังแรงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตกของไทย ติดกับประเทศเมียนมา ตั้งแต่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่สอด อ.พบพระ จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ระนอง จะมีความชื้น- ฝนมาก จากทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องไปถึง 17 สิงหาคมโดยลุ่มน้ำเพชรบุรี ยังคงมีปริมาณน้ำหลากไหลอย่างต่อเนื่องลงเขื่อนแก่งกระจาน น้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณอ.ท่ายาง รวมทั้งแม่น้ำสายสำคัญในประเทศมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้น และแม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง คือ 1. เขื่อนแก่งกระจานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 737 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 104% ปริมาณน้ำไหลเข้า 20.83 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำระบายออกรวม 18.20 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 60 ซม.

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำ 3.66 ม. ระดับตลิ่ง 4.40 ม. แต่ยังต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.76 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 183.70 ลบ.ม./วินาที อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ล้นทางระบายน้ำที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบ ให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ก่อนที่จะไหลลงทะเลต่อไป

การบริหารจัดการน้ำ โดยกรมชลประทาน มีการพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีล่วงหน้า และตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเมืองเพชรบุรี มีระดับขึ้นช้าลง ต่ำกว่าตลิ่ง 0.55 ม. แต่ยังต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ

2.เขื่อนน้ำอูนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 4.84 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 4.84 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่งการบริหารจัดการน้ำ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.60 ล้าน ลบ.ม. การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน

3.เขื่อนวชิราลงกรณสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,519 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 68.80 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 41.26 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อยการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้าน ลบ.ม./วัน การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ และ4.เขื่อนปราณบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 319 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ปริมาณน้ำไหลเข้า 14.95 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.48 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำจนถึง 100 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้การติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีอ่างฯที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน 103% เขื่อนแก่งกระจาน 104% ขนาดกลาง 17 แห่ง ซึ่งอยู่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 แห่งและภาคตะวันออก 2 แห่ง อ่างเฝ้าระวัง มีความจุ 80-100% ขนาดใหญ่ 3 แห่ง เขื่อนศรีนครินทร์ 87% เขื่อนวชิราลงกรณ 85%เขื่อนปราณบุรี 82%ขนาดกลาง 61 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43 แห่ง ภาคตะวันออก 7 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK