Politics

ทางรอดเลือกตั้ง ต้องกระชับพื้นที่ ‘โซเชียลมีเดีย’

pexels photo 267482

แม้จะยังไม่มีบทพิสูจน์ที่แน่ชัดว่ามีการใช้ข้อมูลผู้เล่นเฟซบุ๊กจำนวนมหาศาลไปกับการทำแคมเปญศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาโดยบริษัทข้อมูลอย่างเคมบริดจ์ อะนาไลติกาจริงหรือไม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่เชื่อว่านาทีนี้ ไม่ว่าภาคส่วนใดต่างก็เกิดความรู้สึกสั่นคลอนกับความน่าเชื่อถือของเฟซบุ๊กในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมากขึ้นทุกที

การเกิดขึ้นของแคมเปญ #deletefacebook ที่กำลังกระหึ่มบนโลกออนไลน์ฝั่งตะวันตกเป็นหลักฐานที่ดีของกรณีนี้ และยิ่งร้อนแรงมากขึ้นเมื่อสองคนดังแห่งซิลิคอนวัลเลย์อย่าง อีลอน มัสก์ และไบรอัน แอคตัน ต่างออกมาร่วมในแคมเปญ #deletefacebook จนได้พื้นที่สื่อไปอย่างล้นหลาม

ทว่าในฝั่งของประเทศไทย ประเทศที่ติดอันดับการใช้งานโซเชียลมีเดียเบอร์ต้น ๆ ของโลกนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวกลับยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งในมุมของนายธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง YDM Thailand ในฐานะนักการตลาดดิจิทัลที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า กระแสเรื่องความเป็นส่วนตัวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของผู้ใช้งานชาวไทยยังไม่ปรากฏชัดมากนัก ต่างจากในต่างประเทศที่รับไม่ได้กับการล้วงข้อมูล และนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

MG 4918
นายธนพล ทรัพย์สมบูรณ์

โดยสิ่งที่น่าสนใจในมุมของคุณธนพลนั้นมองว่า ในประเทศไทยจะได้เห็นการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อทำแคมเปญหาเสียงทางการเมืองอย่างหนักแน่นอน และบริษัทด้านการตลาดในประเทศไทยที่ทำได้ในระดับนี้ ก็อาจมีไม่กี่บริษัทด้วย

“นักการเมืองยุคต่อไปถ้าไม่เข้าใจโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิทัลจะประสบปัญหายุ่งยากแน่นอน เพราะการใช้ดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องปกติ”

ขณะที่ในมุมของนักกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายดิจิทัล เปิดเผยกับทางทีมข่าว The Bangkok Insight ว่า “นอกจาก ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. แล้ว เรายังมีอีกหนึ่งตัวก็คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ซึ่งมันยังไม่เรียบร้อย แต่ต้องบอกว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะชุดข้อมูลที่เราป้อน หรือเขียนลงไปบนโซเชียลมีเดียควรจะได้รับความคุ้มครอง”

rin
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์

โดย ดร.ภูมินทร์ ได้ยกตัวอย่างสหภาพยุโรปที่มีการแจกแจงชัดเจนว่า ข้อมูลใดบ้างที่ต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ และข้อมูลส่วนไหนบ้างที่ห้ามเปิดเผย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยยังไม่มีในส่วนของกฎหมายนี้

“ปัจจุบัน มีข้อมูลบางอย่างไม่ได้รับความคุ้มครองเลยตามกฎหมายไทย มันเลยกลายเป็นว่า เวลาเราไปใช้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่าง ๆ จากต่างประเทศ เราจะเจอสัญญาในลักษณะมัดมือชก ที่กดได้เพียงแค่ยอมรับกับปฏิเสธ ซึ่งถ้ายอมรับก็ต้องยอมรับไปทั้งหมด และข้อมูลเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ใช้งานในอนาคตได้ เช่น กรณีนายเอชอบโพสต์ภาพกินเหล้าเมายา หากบริษัทประกันไปขอซื้อข้อมูลเหล่านี้จากแพลตฟอร์มก็อาจจะไปมีผลกระทบต่อค่าเบี้ยประกันที่นายเอ อาจต้องจ่ายเงินมากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น”

“ประเด็นที่สองคือ ตอนนี้ในสหภาพยุโรปมีประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในชื่อ GDPR และเพิ่งเกิดคดีที่ปรับกูเกิลไปในมูลค่าที่สูงมากจากกฎหมายฉบับนี้ โดยเป็นเรื่องของทนายความคนหนึ่งซึ่งพ้นจากสถานะการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แต่ถ้าเสิร์ชในกูเกิลก็จะเจอข้อมูลที่บอกว่าเขาคนนี้เคยเป็นคนล้มละลายอยู่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เจ้าตัวสามารถใช้สิทธิขอให้ลบข้อมูลของเขาได้ ถ้าแจ้งเตือนผู้ให้บริการแล้วไม่ลบ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปด้วย (ซึ่งตรงจุดนี้มีการใช้อำนาจในลักษณะของการคุ้มครองคนที่ถือสัญชาติของสหภาพยุโรปในไทยด้วย)”

pexels photo 607812

อย่างไรก็ดี หากย้อนดูกฎหมายของไทย ดร.ภูมินทร์เผยว่า ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างมากก็คือ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีการแฝงอยู่บางมาตราเรื่องการนำข้อมูลของบุคคลอื่นมาโพสต์หรือเข้าถึงโดยไม่ชอบเท่านั้น ซึ่งใช้ไม่ได้กับกรณีเฟซบุ๊ก เพราะเป็นการเข้าถึงโดยชอบเนื่องจากมีการยอมรับในสัญญากับผู้ให้บริการ เพียงแต่กรณีนี้อาจเกิดจากผู้ให้บริการประมาทเลินเล่อทำให้ข้อมูลหลุดออกไป

“สิ่งที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงคือ ถ้ารัฐไทยรู้ไม่ทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็จะไม่รู้ว่าต้องเขียนกฎหมายอย่างไรให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่มีการนำเอาระบบออโตเมชัน ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้ในการทำบิ๊กดาต้า แล้วปัญญาประดิษฐ์เองก็ทำงานตามอัลกอริธึมของเขา ซึ่งตรงนี้รัฐต้องมาออกกฎระเบียบให้ชัดเจนว่าคนที่เป็นเจ้าของสามารถปกป้องข้อมูลตัวเองได้อย่างไรบ้าง หรือต้องบอกได้ว่าคนที่รับผิดชอบต่าง ๆ เหล่านี้ควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ประเทศมีความปลอดภัย” ดร.ภูมินทร์กล่าวทิ้งท้าย

Avatar photo