กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ 20 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในระยะนี้ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสรรพกำลังและเครื่องจักรกลสาธารณภัย รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำหลายแห่งอยู่ในระดับสูง ทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 5 – 9 สิงหาคม 2561 ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นทุกภาค ซึ่งปริมาณฝนสะสมที่เพิ่มมากขึ้น อาจเกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร บก.ปภ.ช.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่
เพชรบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอบ้านแหลม และอำเภอแก่งกระจาน
ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ ได้แก่
กาญจนบุรี รวม 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา
ราชบุรี รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้างโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอเมืองราชบุรี
สำหรับจังหวัดริมแม่น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
บึงกาฬ รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเซกา อำเภอบุ่งคล้า และอำเภอเมืองบึงกาฬ
สกลนคร รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอโคกศรีสุพรรณ
นครพนม รวม 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาแก อำเภอเรณูนคร อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอธาตุพนม
ร้อยเอ็ด ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ
ยโสธร รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าติ้ว และอำเภอมหาชนะชัย
มุกดาหาร รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดอนตาล
อุบลราชธานี รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอโขงเจียม และอำเภอบุณฑริก
นอกจากนี้ พื้นที่ฝั่งอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือภาวะอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน และคลื่นลมแรงในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย ตลอดจนกำชับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ภัยให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานและเครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วน โดยเตรียมความพร้อมด้านสรรพกำลัง เครื่องจักรกลสาธารณภัย และจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ให้ประสานหน่วยงานเจ้าท่าประมง และตำรวจน้ำออกลาดตระเวนแจ้งเตือนการเดินเรือทุกประเภท ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและงดการเดินเรือ หากทะเลมีคลื่นสูงและกำลังแรง รวมถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสภาพความพร้อมและความปลอดภัยก่อนออกเรือทุกครั้ง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป