Politics

สั่งเฝ้าระวัง​สถานการณ์น้ำรับมือฝนถล่มหนัก 5-9 ส.ค.

เขื่อนวชิราลงกรณ
เขื่อนวชิราลงกรณ

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)และศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า ช่วงวันที่ 5-9 สิงหาคม 2561 ประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก รวมทั้งในช่วงสัปดาห์นี้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนัก ในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงาและภูเก็ต

ส่วนสถานการณ์เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ล่าสุด (5 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำ 701.36 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 100 % ของ​เกณฑ์​ควบคุม​ มีปริมาณน้ําไหลเข้า 21.04 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.61 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านทาง ระบายน้ำล้นลงแม่น้ําเพชรบุรีเวลา​ 22.00​ น.​ คืนนี้​

นายทองเปลว​ กองจันทร์​ อธิบดี​กรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เร่งพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและระบบชลประทาน ลงอ่าวไทยเพิ่มในแม่น้ำเพชรบุรี โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างโดยกําลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ​ Hidro Flow​ รวมถึงได้วางมาตรการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งเตือนจากจังหวัดเพชรบุรี โดยให้เตรียมรับ สถานการณ์ท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเพชร บริเวณอําเภอแก่งกระจาน อําเภอท่ายาง อําเภอบ้านลาด และ อําเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งวันนี้จะมีเรือยนต์ผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ จํานวน 20 ลํามาเสริม​เพื่อทำให้แม่น้ำเพชรบุรี​มีระดับต่ำมี่สุดเพื่อ​เพิ่ม​พื้นที่​รับน้ำ

กรมชลประทานคาดการณ์​อัตราการระบายต่างๆ​จากเขื่อนเพชรบุรี จะส่งผลกระทบ​ต่อพื้นที่​ใดบ้าง​ โดยหากปริมาตรไหลผ่านในอัตรา 50-100 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร กรณีระบายน้ำในอัตรา 100-150ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.หนองโสน ต.บ้านกุ่ม ต.บางครก อัตราการระบายน้ำปริมาณ 150-200ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.คลองกระแซง ต.บ้านหม้อ ต.ท่าราบ ต.ต้นมะม่วง อัตราการระบายน้ำ 200-400 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.บ้านลาด ต.ตำหรุ ต.ท่าเสน ต.ถ้ำรงค์ ต.สมอพลือ และไหลลงคลองส่งน้ำ อัตราการระบายน้ำปริมาณ 400-600 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่ายาง ต.ยางหย่อง และถ้าอัตราการระบายน้ำปริมาณมากกว่า 600 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่าแลง ต.ท่าคอย และไหลเข้าคลองส่งน้ำ

ทั้งนี้ หากมีน้ำล้นทางระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ทุก ๆ อัตรา 10 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 10-15 ซม. ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำ ขอให้ชาวบ้านริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดแม่น้ำ ท้ายเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ขอให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วย ออกจากพื้นที่

ส่วนเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 648 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 101 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.39 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 3.80 ล้านลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน หน่วยงานทั้งของกระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์​ กระทรวง​มหาดไทย​แจ้งเตือนสถานการณ์​น้ำแก่ประชาชน​อย่างต่อเนื่องและเตรียม​มาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่​จังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลําน้ำอูนและลําน้ำสงคราม ไหลผ่าน

ส่วนที่เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีน้ำในอ่าง 7,403 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 84 % ของ​ความจุ​ ปริมาณน้ำไหลเข้า 89.29 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 36.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง สภาพน้ำในพืนที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ ทั้งนี้ปริมาณน้ำระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณ รีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมน้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้า ทยอยเพิ่มการระบายน้ำให้เป็น 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ซึ่งได้แจ้งเตือนให้ประชาชน​พื้นที่ท้ายเขื่อนลําน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำ

ส่วนสถานการณ์น้ำในลำน้ำและ แม่น้ำสายสำคัญของ ภาคเหนือ ลําน้ำน่าน อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เฝ้าระวัง,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลําน้ำสายใหญ่ เริ่มมีระดับน้ำลดลง แต่ยังมีล้นตลิ่งในบางแห่ง เช่นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ลําเซบาย บริเวณจังหวัดยโสธร และลําน้ำสงคราม บริเวณจังหวัดนครพนม – ภาคกลางและภาคใต้ ปริมาณน้ำในลําน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ด้าน แม่น้ำโขง มีน้ำไหลจากจีนยังคงที่ แต่ฝนที่ตกสะสมในประเทศลาวทําให้ยังมีมวล น้ำไหลลงมายังแม่น้ำโขงส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดนครพนม สูง 34 ซม. มุกดาหาร 36 ซม. และ อุบลราชธานี 45 ซม.โดย มีแนวโน้มน้ำสูงขึ้น ให้เฝ้าระวังในบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK